หลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เปิดเผยว่า การลงทุนต้องทำให้มีประโยชน์ต่อเกษตรกร และต้องมองการลงทุนในหลายระดับทั้งระดับชาติจนถึงระดับเกษตรกร และควรนำเอาสหกรณ์และ social businessมาร่วมอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรืออาจจะให้สิทธิพิเศษแก่เกษตรกร เพื่อการช่วยเหลือซึ่งตัวเองมองว่าจะเกิดห่วงโซ่การพึ่งพากันมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลหวังให้ประชาชนเข้มแข็งและยืนยันว่าไม่ได้หวังผลกำไรในการช่วยเหลือ พร้อมขอให้เกษตรกรอดทนในการช่วยเหลือ เพราะรัฐบาลกำลังเร่งแก้ไขปัญหา และยังได้ฝากถึงโรงงานขนาดใหญ่ว่าให้ช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศด้วย
ขณะที่ หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเปิดเผยว่า ภาพรวมการยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้เป็นที่น่าพอใจ โดยมียอดรวมสูงถึง 237 โครงการ มูลค่ารวม 37,620 ล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าการเปลี่ยนนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่จะทำให้การยื่นขอร้บส่งเสริมการลงทุนลดลง แต่การที่มียอดคำขอที่เข้ามามากนี้แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนเชื่อมั่นในประเทศไทย และยังพบว่า มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนนตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ หรือ Modern Industry ซึ่งก็มีผู้ยื่นคำขอเข้ามามากเช่นกัน โดยถึงวันที่ 22 พฤษภาคมนี้มีมากถึง 144 โครงการ มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งได้เริ่มอนุมัติโครงการลงทุนนี้ไปแล้ว ม.ร.ว. ปรีดียาธร ชี้แจง ตัวเลขหนี้ที่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ชินวัตร ว่า มีตัวเลขหนี้ที่สูงที่สุดจำนวนกว่า 500,000 ล้านบาท คือ โครงการรับจำนำข้าว หนี้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย 74,000 ล้านบาท เงินประกันสังคมที่รัฐบาลต้องส่งสมทบแต่ไม่ส่งมา 3 ปี ตามกฎหมายให้กระทรวงการคลังตั้งชดเชยหนี้ แต่ในรัฐบาลที่แล้วไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งก็ถือว่าทำผิดกฎหมาย
ด้านนางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบเพิ่มมาตรการอีก 2 มาตรการคือ การลดต้นทุนการผลิตและการส่งเสริมการลงทุน โดยมาตรการลดต้นทุนการผลิต มอบให้กระทรวงพลังงานพิจารณาเรื่องลดค่าไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ คาดจะชัดเจนเดือนมิถุนายน กระตุ้นให้เอกชนแข่งขันกับต่างประเทศ แต่การลดค่าไฟและก๊าซธรรมชาติ จะลดตามระยะที่สมควรเท่านั้น ขณะที่มาตรการส่งเสริมการลงทุนจะให้ลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบที่นำมาผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศกว่าร้อยละ 90เป็นเวลา 3 ปีด้วย ที่ประชุมมีมติส่งเสริมการลงทุนใน 8 โครงการใหญ่มูลค่ากว่า 27,000ล้านบาทด้วย ส่วนการยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนจะมีแนวโน้มดีขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปีไปจนถึงปลายปี
บีโอไอ คาดว่า ตลอดปีจะมีการยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมประมาณ 350,000 ล้านบาท เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ทำให้ไทยได้เปรียบเหนือคู่แข่งในภูมิภาคกว่าร้อยละ 60
ส่วนยอดอนุมัติโครงการลงทุนที่ยื่นคำขอเข้ามาเมื่อรวมกับยอดเก่าปีที่แล้วมีจำนวน 957 โครงการ เป็นเงิน 325,000 ล้านบาท และเชื่อว่าโครงการนี้จะมีการลงทุนต่อเนื่องไปในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร