ผู้สืบสวนสหประชาชาติสอบสวนการพลัดถิ่นครั้งใหญ่ในเมียนมา

25 พฤษภาคม 2567, 12:23น.


          กลไกการสอบสวนอิสระของสหประชาชาติสำหรับเมียนมา (Independent Investigative Mechanism for Myanmar : IIMM) รายงานการติดตามการสู้รบที่ทวีความรุนแรงขึ้นในรัฐยะไข่ และตรวจสอบรายงานที่ระบุว่ามีชนกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่ถูกสังหารและบังคับให้ต้องย้ายถิ่น ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงคราม





          ตั้งแต่ในปี 2560 ที่รัฐบาลเมียนมามีการปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาที่ไม่ได้รับการยอมรับเป็นพลเมือง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และอีกประมาณ 700,000 คนกลายเป็นผู้พลัดถิ่น แต่หลังจากที่กองทัพอาระกัน (AA) ต่อสู้เพื่อขับไล่กองทัพเมียนมา จากรัฐยะไข่ และประกาศยึดเมืองบูติด่องในสัปดาห์ที่แล้ว สหประชาชาติ พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามีการใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากต้องพลัดถิ่น และยังส่งผลกระทบต่อชุมชนชาวยะไข่และฮินดู



          ในแถลงการณ์ร่วมที่เผยแพร่โดยกลุ่มองค์กรชาวโรฮิงญาและกลุ่มองค์กรอื่นรวม 195 แห่งซึ่งมีฐานอยู่ในต่างประเทศ ระบุว่า นักรบ AA บังคับให้ชาวโรฮิงญาออกจากบูติด่อง และมงดอว์ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม จากนั้นจึงเผาและปล้นบ้านของพวกเขา มีชาวโรฮิงญาจำนวนมากถูกกลุ่มนักรบควบคุมตัวให้ไปอยู่ในพื้นที่ที่ถูกควบคุม กลุ่มฯ จึงเรียกร้องให้ AA ยุติการบังคับให้ย้ายถิ่นและการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญา



          แถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ ยังเรียกร้องให้กลุ่ม AA ซึ่งยึดครองพื้นที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐยะไข่ได้แล้ว ปกป้องพลเรือนทั้งหมด โดยอ้างอิงคำมั่นของผู้นำ AA ก่อนหน้านี้ที่ว่า จะไม่มีการสังหารหรือจับกุมชาวโรฮิงญา นอกจากนี้ ยังเปิดเผยด้วยว่ายังมีกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาที่สนับสนุนรัฐบาลเมียนมาไม่ได้เป็นตัวแทนของชาวโรฮิงญาทั้งหมด



          อย่างไรก็ตาม กองทัพอาระกันปฏิเสธว่า บ้านของชาวโรฮิงญาที่ถูกไฟไหม้เสียหายนั้น เกิดจากการที่กองทัพเมียนมาโจมตี ทั้งเห็นว่า ข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นมีเป้าหมายเพื่อทำลายความสามัคคี เป็นการโฆษณาเพื่อให้เกิดความรุนแรงทางเชื้อชาติและศาสนา



ผู้สืบสวนของสหประชาชาติ เพิ่มเติมว่า ความปลอดภัยของทุกคนในรัฐยะไข่เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจเป็นอย่างยิ่ง และมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อีกครั้ง



          IIMM ก่อตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปี 2561 เพื่อรวบรวมหลักฐานอาชญากรรมระหว่างประเทศ และจัดเตรียมข้อมูลสำหรับการดำเนินคดีทางอาญา ซึ่งหน่วยงานรายงานด้วยว่า กำลังรวบรวมหลักฐานการก่ออาชญากรรมร้ายแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ของเมียนมา ในขณะที่มีความขัดแย้งเพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศ





          ด้านสื่อในเมียนมารายงานว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีทหารเมียนมา 31 คนหลบหนีมายังประเทศไทยหลังจากที่นักรบฝ่ายต่อต้านสามารถเข้ายึดค่ายโพชิมือตรงข้าม อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ทหารเมียนมากลุ่มนี้ถูกทหารไทยควบคุมตัวได้บริเวณชายแดนบ้านเปิงเคลิ่ง ซึ่งกลุ่มองค์กรเอกชนในเมียนมา เรียกร้องให้ฝ่ายไทยควบคุมตัวไว้ก่อน และส่งตัวดำเนินคดีในข้อหาอาชญากรสงครามตามกฎหมายสากลเนื่องจากทหารเมียนมากลุ่มนี้ สังหารชาวบ้านกะเหรี่ยงอย่างน้อย 3 คน ระหว่างการหลบหนีมายังฝั่งไทย



นอกจากนี้ยังมีชาวกะเหรี่ยงและมอญในเมียนมา หลบหนีการสู้รบข้ามไปยังฝั่งไทยในเขตบ้านปิล็อกคี่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ประมาณ 300-400 คน



          สำหรับพื้นที่บริเวณรัฐกะเหรี่ยงตรงข้ามกับบ้านปิล็อกคี่ อ.ทองผาภูมิ มีฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมาอยู่หลายกลุ่ม ทั้งกองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army–KNLA) กองพล 4 แห่งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People's Defence Force: PDF) และ กองกำลัง KTLA (Kawthoolei Army :KTLA) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธกลุ่มใหม่ของชาวกะเหรี่ยง



...



#เมียนมา #กองทัพอาระกัน #โรฮิงญา #ชายแดนไทย

ข่าวทั้งหมด

X