หลังการรับฟังการบรรยายพิเศษการถอดบทเรียนการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองสู่การปฎิรูปประเทศในระบอบประชาธิปไตยตลอดสามวัน นาย วุฒิสาร ตันไชย โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า การเชิญนักวิชาการทั้งสามคนมาบรรยายเป็นเจตนาที้ต้องการนำเสนอมุมมองใหม่ๆให้กับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและฝ่ายต่างๆเพื่อให้ได้ความรู้หรือข้อเสนอที่เป็นประโยชน์จากประเทศที่เคยผ่านวิกฤตมาก่อนที่จะฟื้นฟูกลับมาได้ ในส่วนของคณะกรรมาธิการยกร่างฯจะนำแนวคิดที่ได้ตลอดสามวันไปทบทวนถึงร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะแก้ไขใหม่ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะพูดว่าจะแก้ไขในมาตราใดบ้าง เพราะขณะนี้ความเห็นของคณะกรรมาธิการฯยังเป็นความเห็นส่วนตัวและมีแนวทางที่แตกต่างกันมาก ซึ่งต้องรอการเข้าประชุมร่วมกันก่อนจึงจะรู้ว่าจะปรับปรุงในรายละเอียดส่วนใด แต่ยืนยันว่าคณะกรรมาธิการฯมีกรอบเวลาทำงานชัดเจนและจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญอย่างรอบคอบโดยจะนำความเห็นทุกฝ่ายเข้าสู่ที่ประชุมรวมไปถึงคำขอแก้ไขของ 9 กลุ่มที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯได้คำขอมาแล้ว โดยในวันนี้ที่ 2-7 มิถุนายน 2558 คณะกรรมาธิการฯได้เชิญสปช.และครม.เข้าให้ความเห็นต่อการยื่นคำขอแก้ไขแล้ว โดยจะอนุญาตให้แต่ละกลุ่มคำขอส่งตัวแทนชี้แจงได้ 5 คน มีเวลาชี้แจงประมาณ 3 ชั่วโมง
จากนั้นในสัปดาห์ต่อไปจะเป็นการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างฯอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับแก้รัฐธรรมนูญตามระยะเวลาเดิม 60 วัน ซึ่งการจะยืดเวลาให้ออกไปมากกว่า 60 วันได้นั้นจะต้องเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาเพิ่มเติมว่าจะยืดเวลาไปได้กี่วัน โดยขณะนี้ยังต้องยึดตามเวลาเดิมไปก่อน
ส่วนระบบการเลือกตั้งเยอรมันโมเดลนั้นก็เป็นระบบสัดส่วนผสมที่ตัวเองก็เชื่อว่าทุกระบบและทุกอย่างย่อมมีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าถ้าเลือกใช้ระบบเยอรมันโมเดลจริงไทยก็จะต้องยอมรับผลที่ตามมาจากนั้นด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะยอมรับได้หรือไม่ หากนำมาใช้แล้วไม่ประสบผลสำเร็จเหมือนที่หวัง