หลังการประชุมเพื่อติดตามการจ่ายเงินเยียวยาผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองของนาย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นาย.วิษณุ.เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นว่า จะระงับการพิจารณาการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ชุมนุมในช่วงพ.ศ. 2547-2553 ไว้ก่อน เพราะกรณีนี้อยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของคณะอนุกรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช. ในยุครัฐบาลน.ส..ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ มีการจ่ายเงินเยียวยาไม่ถูกหลักเกณฑ์ ต้องรอให้ป.ป.ช.มีความชัดเจนในการพิจารณาคดีก่อนจึงจะมีการพิจารณาเยียวยาอีกครั้ง แต่ทราบว่าผู้ชุมนุมในช่วงดังกล่าวทุกรายได้เงินเยียวยาทั้งหมดแล้วแต่ยังไม่ทราบว่าถูกหลักเกณฑ์หรือไม่ แต่จะไม่มีการสอบสวนเพิ่มเติมจากรัฐบาล ส่วนกรณีการชุมนุมปี 2556-2557 พิจารณาแล้วว่าจะจ่ายให้ผู้เสียชีวิตศพละ 4 แสนบาท แต่หากผู้เสียชีวิตมีบุตรก็จะมีค่าสงเคราะห์บุตรเพิ่มเติม
ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจะต้องดูตามอาการหากบาดเจ็บหลายแห่ง ก็จะจ่ายเงินตามที่ได้รับบาดเจ็บอาจจะเป็นแห่งละ 2 แสนบาทแต่ทั้งนี้เมื่อรวมจะต้องได้ไม่เกิน 4 แสนบาทต่อราย ส่วนผู้ที่ทุพพลภาพจะมีเกณฑ์สงเคราะห์ตามรายเดือนให้ทุกเดือนไปจนกระทั่งเสียชีวิต นายวิษณุ ระบุว่า การเยียวยานี้เป็นไปเพื่อหลักสิทธิมนุษยธรรม
สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามจำนวนที่วางไว้ได้อ้างอิงมาจากพระราชบัญญัติ 4 ฉบับเช่น พระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัยสาธารณภัย พระราชบัญญัติประกันสังคมประกอบกับหลักเกณฑ์การเยียวยาจ่ายเงินในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลที่ได้ในวันนี้จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายใน 1-2สัปดาห์นี้ เพื่อให้อนุมัติต่อไป ยังไม่ได้คำนวณวงเงินว่าจะต้องใช้งบประมาณเท่าใดในการเยียวยา คาดว่าอาจจะหลักร้อยล้านบาท ซึ่งจะให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ดี ระบุด้วยว่าวงเงินก่อนหน้านี้ 2 พันล้านบาทในการเยียวยาสมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้มีการนำคืนคลังไปหมดแล้ว
นายวิษณุ ปฎิเสธไม่ทราบว่าจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษในวันศุกร์นี้ ส่วนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเมื่อแก้ไขแล้วจะต้องนำส่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง พร้อมระบุด้วยว่าในวันที่ 6 มิถุนายนนี้เวลา 09.00-12.00น. พร้อมตัวแทนครม.จะชี้แจงถึงการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย ส่วนการขยายเวลาการแก้ไขร่างฯ จะยึดเวลาให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯมีเวลาแก้ไขได้ไม่เกิน 90 วันจากเดิมที่ 60 วันซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯต้องไปคิดเองว่าจะยืดเวลาแก้ไขร่างฯไปกี่วันด้วย
ผู้สื่อข่าว: ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร