*ผู้เชี่ยวชาญด้านกม.จากฝรั่งเศส ชี้วิธีใช้กม.เพื่อป้องกันรัฐบาลถูกโค่นอำนาจได้ง่าย*

26 พฤษภาคม 2558, 17:37น.


การบรรยายพิเศษเรื่องการถอดบทเรียนการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองสู่การปฎิรูปประเทศในระบอบประชาธิปไตย กรณีศึกษาการร่างรัฐธรรมนูญในฝรั่งเศสของศาตราจารย์ มิเชล โทเปอร์   ศาตราจารย์ โทเปอร์ ได้ยกตัวอย่างถึงการรับผิดชอบของรัฐบาลในฝรั่งเศสยุคสาธารณรัฐที่ 3ว่า ไม่ได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ครอบคลุม ทำให้เกิดการคว่ำรัฐบาลลงหลายคณะและมีความวุ่นวายเกิดขึ้นจนทำให้รัฐบาลแต่ละคณะมีอายุงานเฉลี่ยประมาณ 9 เดือนเท่านั้น ในสาธารณรัฐที่ 4 จึงมองว่าควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ครอบคลุมขึ้น โดยต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดเพื่อที่จะคว่ำรัฐบาลได้ยากขึ้น และให้รัฐบาลเสนอยุบสภาได้ เพื่อนำไปให้ประชาชนตัดสินใจเลือกผู้แทนเข้ามาใหม่ แต่ก็พบว่าประชาชนเลือกผู้แทนหน้าเดิมและกลไกการยุบสภาก็ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหาการรับผิดรัฐบาล



 ในสาธารณรัฐที่ 5 จึงได้หาแนวคิดใหม่ในการรักษาเสถียรภาพรัฐบาลมากขึ้น ซึ่ง นายพล ชาร์ล เดอ โกล ประธานาธิบดีขณะนั้น วางมาตรการในรัฐธรรมนูญม. 49 ให้นายกฯผูกพันความรับผิดชอบต่อนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา รวมทั้งในม.49 วรรค 2 ได้กำหนดขอบเขตการยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่รัดกุมเพื่อเป็นการป้องกันรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลถูกคว่ำยากขึ้น นอกจากนี้ในม.49 สรรค 3 นายกฯยังมีสิทธิผ่านกฎหมายต่อรัฐสภาได้เลยภายใน 48ชม.และถือว่ารัฐสภาเห็นชอบต่อกฎหมาย หากไม่มีคนยื่นญัตติไม่ไว้วางใจด้วย ซึ่งในม.49 วรรค 3 นี้จะพบว่าตรงกับม. 166 และม.182 ของรัฐธรรมนูญไทยฉบับที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังแก้ไข ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายเสนอให้ตัดทิ้งด้วย



ส่วนในมาตรา16 ในฝรั่งเศสซึ่งตรงกับมาตรา 44 ของไทยที่ให้อำนาจนายก นายโทเปอร์ กล่าวว่า ม.16 ของฝรั่งเศสนั้นให้อำนาจประธานาธิบดีในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ที่ไม่ปกติของประเทศในขณะนั้น โดยประธานาธิบดีจะมีสิทธิทำได้ทุกอย่างเมื่อใช้ม. 16 ยกเว้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บนพื้นฐานที่จะนำประเทศไปสู่สภาวะปกติโดยเร็วและฟื้นคืนองค์กรต่างๆให้ทำหน้าที่ได้เช่นเดิม และเมื่อมีการใช้ม.16 แล้ว ประธานาธิบดีจะไม่มีสิทธิยุบสภาและจะมีการเรียกประชุมสภาโดยอัตโนมัติ แต่ก็ยอมรับว่าสภาไม่มีสิทธิคุมอำนาจประธานาธิบดีหรือการพิจารณากฎหมายได้  ซึ่งฝรั่งเศสเคยนำม.16 มาใช้เพื่อครั้งเดียวเท่านั้นในยุคสงครามแอลจีเรียเมื่อปีค.ศ. 1961 และไม่เคยมีปัญหาถึงประเด็นดังกล่าวนี้ ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญ ศาสตราจารย์ โทเปอร์แนะนำเขียนให้สั้น กระชับและครอบคลุม และให้ศาลเป็นผู้นำไปตีความเองดังเช่นสหรัฐ ที่จะเห็นว่ามีการใช้รัฐธรรมนูญมานานหลายร้อยปีแล้ว โดยเขียนได้สั้นๆครอบคลุมและสามารถนำมาใช้ได้จนปัจจุบันไม่เคยฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง อย่างไรก็ดีการร่างรัฐธรรมนูญต้องสื่อให้ศาลเข้าใจได้ชัดและต้องระวังการตีความที่ผิดด้วย

ข่าวทั้งหมด

X