อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดภาพเสือโคร่งตัวใหม่อีกครั้งในวันคุ้มครองโลก(Earth Day) 22 เมษายน 2567 โดยระบุว่า “KKT-006 เสือโคร่งตัวใหม่ตัวใหญ่ งดงาม เป็นเสือตัวผู้ที่น่าเกรงขาม ถือเป็นหนึ่งในตัวบ่งบอกความสมบูรณ์ของป่าแก่งกระจาน ส่วนสาเหตุที่เสือโคร่งมีจำนวนมากขึ้น คาดว่าน่าจะมาจากปริมาณเหยื่อ เช่น เก้ง กระทิง กวางป่า หมูป่า เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง”
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวว่า จากการจัดเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนเชิงคุณภาพในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง นางสาวจิรนันท์ จรัสกุล ฝ่ายวิชาการ อช.แก่งกระจาน ได้รายงานผลจากการสำรวจความหลากหลายบริเวณแม่น้ำเพชรบุรีตอนบน ตั้งแต่วันที่ 4-7 เมษายน 2567 โดยความร่วมมือระหว่างอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศ ได้สำรวจจากการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (camera trap) และสำรวจร่องรอยของสัตว์ป่าในพื้นที่
จากการเปิดภาพจากกล้องพบว่ามีสัตว์ป่าหลากหลายชนิดที่อาศัยและหากินอยู่บริเวณริมแม่น้ำเพชรบุรี สัตว์ป่าที่พบเห็นตัวได้โดยตรงในครั้งนี้ คือ เสือโคร่ง (KKT-004) งูเหลือม เหยี่ยวรุ้ง นกกระเต็นใหญ่ธรรมดา นกกระเต็นหัวดำ นกพญาปากกว้างอกสีเงิน ไก่ป่า เลียงผา ลิงกังเหนือ มีทั้งที่ถ่ายภาพได้และไม่ได้ และสัตว์ป่าที่ได้จากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า คือ จระเข้น้ำจืด เสือโคร่ง (KKT-002M-ณเดชน์) นากใหญ่ขนเรียบ สมเสร็จ ช้างป่า ลิงแสม หมีควาย กวางป่า ชะมดแผงหางปล้อง ซึ่งการพบสัตว์ป่าหลากหลายชนิดบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำเพชรบุรีตอนบน ความเหมาะสมถึงการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
สำหรับ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอุทยานแห่งชาติที่สมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธารของลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำปราณบุรี มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น ทะเลสาบ น้ำตก ถ้ำ หน้าผาที่สวยงาม อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ถือเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าแก่งกระจานที่ประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอีกด้วย
#เสือโคร่ง
#อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน