กรมอุทยานแห่งชาติฯ พบผึ้งหลวงหิมาลัยเป็นครั้งแรก บ่งชี้ความหลากหลายทางชีวภาพในไทย

20 เมษายน 2567, 15:16น.


          นายทรงเกียรติ ตาตะยานนท์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมด้วยทีมนักวิจัย นายอิสราพงษ์ วรผาบ นักกีฏวิทยาชำนาญการ (กรมอุทยานแห่งชาติฯ) นายนนธวัช ฉัตรธนบูรณ์ ดร.ชวธัช ธนูสิงห์ และ ผศ.ดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเปิดเผยการค้นพบผึ้งหลวงหิมาลัย หรือ ApislaboriosaSmith, 1871 ที่บริเวณหน้าผาสูงของอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพบเจอตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 จากนั้นจึงมีการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แน่ชัด





          ผึ้งหลวงหิมาลัย มีความแตกต่างจากผึ้งหลวงทั่วไป หรือ Apis dorsataFabricius, 1793 ที่สามารถพบเห็นได้ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยมีการสร้างรังขนาดใหญ่เป็นคอนเดี่ยว ลักษณะที่แตกต่างที่สำคัญคือ ผึ้งหลวงหิมาลัย จะมีปล้องท้องสีดำสนิท และขนรอบบริเวณปล้องอกที่มีสีเหลืองทอง สามารถพบในบริเวณภูเขาสูงตั้งแต่ <1,000 -4,500+ เมตรจากระดับน้ำทะเลและในพื้นที่มีอากาศเย็น (< 25°C) เป็นแมลงผสมเกสรที่สำคัญและจำเพาะต่อสังคมพืชในระบบนิเวศที่สูง น้ำผึ้งมีคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีที่แตกต่างจากน้ำผึ้งจากผึ้งหลวงทั่วไปและผึ้งชนิดอื่น ๆ ในธรรมชาติ และเป็นที่ต้องการอย่างสูงในตลาด อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้จำเป็นที่ต้องได้รับการศึกษาเพิ่มจากผึ้งหลวงหิมาลัยที่พบในประเทศไทยต่อไป





          นายทรงเกียรติ กล่าวว่า การค้นพบในครั้งนี้ เป็นตัวชี้วัดที่มีความสำคัญต่อภาพรวมของความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่สูงภายในประเทศไทย ที่กำลังถูกรุกรานจากการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของผึ้งชนิดต่าง ๆ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ



          ผึ้งหลวงหิมาลัยที่พบยังเป็นผึ้งให้น้ำหวานในสกุล Apis ชนิดที่ 5 ของประเทศไทย จากเดิมที่มีรายงานอยู่เพียง 4 ชนิด คือ ผึ้งหลวง (Apis dorsata) ผึ้งมิ้ม (Apis florea) ผึ้งม้าน (Apis andreniformis) และผึ้งโพรง (Apiscerana) ซึ่งไม่รวมผึ้งพันธุ์ (Apismellifera) ที่เป็นผึ้งสายพันธุ์ต่างถิ่น





#ผึ้งหลวงหิมาลัย



#สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช



 

ข่าวทั้งหมด

X