สหรัฐฯ ขัดขวางการรับรองปาเลสไตน์เป็นสมาชิกสหประชาชาติเต็มรูปแบบ

19 เมษายน 2567, 07:32น.


          สหรัฐฯ ใช้สิทธิ์ยับยั้งหรือวีโต้การลงมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการรับรองปาเลสไตน์เป็นสมาชิกสหประชาชาติเต็มรูปแบบ



          ในการลงมติครั้งนี้ มี 12 ประเทศลงมติเห็นชอบ



          ส่วนสหราชอาณาจักรและสวิตเซอร์แลนด์ งดออกเสียง



          อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนมีความเห็นพ้องกันมาก่อนหน้านี้ว่า การลงมติในครั้งนี้จะล้มเหลว และสหรัฐฯ จะใช้สิทธิ์ยับยั้ง เนื่องจากการที่เป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญของอิสราเอลมาอย่างยาวนาน ซึ่งนาย โรเบิร์ต วูด รองเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ชี้แจงว่า สหรัฐฯ มีความเชื่อมั่นว่า หนทางเดียวในการสถาปนารัฐปาเลสไตน์คือการเจรจาระหว่างชาวอิสราเอลกับชาวปาเลสไตน์



          ในเอกสารชี้แจงของคณะนักการทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ระบุว่า สหรัฐฯ มีการทำงานและความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนสถานะรัฐปาเลสไตน์ในบริบทของข้อตกลงสันติภาพที่มีความครอบคลุม สามารถแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ได้อย่างถาวร ซึ่งนับตั้งแต่การโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม (2566) ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าสันติภาพที่ยั่งยืนในภูมิภาคสามารถบรรลุได้ด้วยการแก้ปัญหาแบบ 2 รัฐเท่านั้น พร้อมการรับประกันความปลอดภัยของอิสราเอล



          นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของปาเลสไตน์ในการเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้ปาเลสไตน์ดำเนินแก้ไขมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะบทบาทของกลุ่มฮามาสที่เป็นกลุ่มก่อการร้าย และเป็นผู้ปกครองฉนวนกาซา



          การลงมติยังเกิดขึ้นหลังจากที่อิสราเอลโจมตีฉนวนกาซาเป็นเวลานานกว่า 6 เดือนทำให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไปมากกว่า 33,000 ราย เกิดหายนะด้านมนุษยธรรมทั้งพื้นที่





          นาย มาร์วาน บิชารา นักวิเคราะห์การเมืองอาวุโสของอัลจาซีเราะห์ แสดงความเห็นว่า สหรัฐฯ มีความยึดมั่นอยู่ในแนวทางของตนเองมากกว่าแนวทางที่มีส่วนร่วมให้ความเห็นชอบ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และอิสราเอล





#คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ



#ปาเลสไตน์



#สหรัฐอเมริกา



อ่านคำชี้แจงของนักการทูตสหรัฐฯ ได้ที่ https://usun.usmission.gov/explanation-of-vote-at-a-un-security-council-meeting-on-palestinian-membership/

ข่าวทั้งหมด

X