เมื่อวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ เพื่อสรุปประเด็นขอเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ ครม.ส่งให้กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือทำอย่างไรปัญหาจะไม่เกิดขึ้นมาอีก ทุกคนต้องทำตามหน้าที่ มีธรรมาภิบาล มีคุณธรรม จริยธรรม ไม่ทับซ้อนข้าราชการ เดินหน้าประเทศไปตามขั้นตอน
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมพิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะในการแก้ไขเพิ่มเติมกว่า 100 ประเด็นไม่ใช่ 100 มาตรา เพราะบางมาตราก็มีหลายประเด็น ครึ่งหนึ่งเป็นการขอแก้ไขถ้อยคำที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องที่กระทบต่อหลักใหญ่ของแต่ละมาตรา ซึ่งพร้อมที่จะชี้แจงเป็นรายมาตราต่อไป
ส่วนสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ต่อฝ่ายเลขานุการ กมธ.ยกร่างฯ จำนวน 7 กลุ่ม รวม 8 คำขอ โดยในคำขอแก้ไขของ ครม. ที่ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนั้นมีเจ้าหน้าที่นำเอกสารมายื่นต่อฝ่ายเลขานุการ กมธ.ยกร่างฯ ก่อนเวลา 16.30 น. เพียงเล็กน้อย ซึ่งทำให้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวกับหน้าเจ้าหน้าที่ว่า "ดีนะ ที่ ครม.ยังส่งมาทันเวลา"
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีหากรัฐบาลแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ให้ เวลา กมธ.ยกร่างฯแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มจาก 60 วัน เป็น 90 วัน ก็จะทำให้การพิจารณาลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ก็ต้องเลื่อนจากวันที่ 6 สิงหาคม 2558 ออกไปอีกหนึ่งเดือน คาดว่าแผนการปฏิรูปทั้งหมดจะเสร็จภายในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายน หรือก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญสุดท้ายจะเข้าสู่การพิจารณาของ สปช. ทั้งนี้ ข้อเสนอการปฏิรูปได้ทยอยส่งให้ ครม.พิจารณาตลอด ครม.ก็ตอบกลับทุกประเด็น และชี้แจงไปยังหน่วยงานกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ เป็นไปตามกรอบ
โดยในวันนี้ สปช.จะปิดประชุมในเวลา 12.00 น. เพื่อให้สมาชิกไปร่วมฟังบรรยายเรื่อง "ถอดบทเรียนการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองสู่การปฏิรูปประเทศในระบอบประชาธิปไตย" กรณีศึกษาการร่างรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ ในส่วนของประเทศฝรั่งเศส ที่กระทรวงการต่างประเทศ
ส่วนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะนำเสนอรายละเอียดของร่างบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation : MOC) การพัฒนารถไฟระหว่างรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่นใน 2 เส้นทางและจะเดินทางไปลงนามกับรัฐบาลญี่ปุ่นในระหว่าง วันที่ 26-27 พฤษภาคมนี้ทันที โดยเป็นเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 715 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง กับเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ ระยะทาง 574 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางที่เน้นการขนส่งสินค้า
ส่วนนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ยังไม่ได้เสนอชื่อปลัดกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา อธิบดีการท่องเที่ยว อธิบดีกรมพลศึกษา และรองอธิบดีกรมพลศึกษาคนใหม่ ต่อที่ประชุม ครม. เพื่อให้พิจารณาแทนบุคคลในตำแหน่งเดิมที่ถูกคำสั่งมาตรา 44 โดยมอบให้ผู้ที่รักษาการปฏิบัติหน้าที่ไปตามปกติก่อน
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลมียอดหนี้สะสมรวมจำนวน 7 แสน 2 หมื่นล้านบาท ที่จะครบกำหนดการชำระภายใน 20 ปีซึ่งในจำนวนนี้เป็นภาระหนี้จากการรับจำนำข้าวประมาณ 5 แสน 2 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) , องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งเป็นหนี้ขาดทุนสะสม โดยแนวทางการลดหนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำรายละเอียดร่างกฎหมายพิเศษเพื่อบริหารจัดการภาระหนี้สะสม คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนเพื่อนำเสนอร่างฯเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม. และนำเข้า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามขั้นต่อไป
ด้านนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวถึงกรณีคณะทำงานกองทัพภาคที่ 2 และกระทรวงยุติธรรม ตรวจสอบการกระทำความผิดกรณีการออกโฉนดที่ดินรุกล้ำที่ส.ป.ก.กว่า 130 ไร่ ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนความผิดเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน และ ผู้เกี่ยวข้องอื่นอีก 3 คน ฐานสนับสนุนการ กระทำผิด ด้วยการร่วมกันออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ
กลุ่มสมัชชาคนจน นำโดย นางสมปอง เวียงจันทร์ พร้อมชาวบ้านจากอำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอโขงเจียม อำเภอสิรินธร ประมาณ 100 คน ยื่นนหนังสือเรียกร้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนปากมูล และการคัดค้านการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงของประเทศลาว โดยบอกว่า กลุ่มสมัชชาคนจนยื่นข้อเรียกร้องกรณีเขื่อนปากมูลมาทุกรัฐบาล รวมทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน มีการเจรจานับครั้งไม่ถ้วนแต่ก็ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน
และความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ซึ่งพล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ. ตร.) เปิดเผยว่าในภาพรวมถึงว่า เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้แล้ว โดยยังต้องติดตามจับกุมผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีอีก 31 คน จากที่มีการออกหมายจับ 77 หมาย โดยควบคุมตัวได้แล้ว 46 คน
ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหม ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวโรฮิงญาโดยเฉพาะกลุ่มที่ยังลอยลำอยู่ในทะเล ด้วยการจัดตั้งฐานปฏิบัติการเรือลอยน้ำ โดยใช้เรือขนาดใหญ่ที่มีบุคลากรและอุปกรณ์พร้อมให้การช่วยเหลือ และตรวจสอบพิสูจน์สัญชาติได้ทันที โดยจะมีกำลังทางอากาศบินลาดตระเวนเพื่อชี้เป้า กำหนดเป้าหมายให้การช่วยเหลือ ซึ่งคำสั่งนี้ให้มีผลโดยทันที อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีระบุว่า เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นในระยะสั้นเท่านั้น
ส่วนการประชุมระดับผู้ปฏิบัติหรือเจ้าหน้าที่อาวุโสว่าด้วยเรื่อง โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียเพื่อแก้ปัญหาคนลักลอบเข้าเมือง ในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ มีประเทศที่ตอบรับเข้าร่วมประชุมแล้ว 17 ประเทศ จากที่เชิญไป 18 ประเทศ ซึ่งจะเป็นการหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปและแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันในระยะยาว ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ยังมีองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) สำนักงานยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) เข้าร่วมการประชุมด้วย
*-*