ลูกเห็บตกหนักที่แม่ริม เชียงใหม่ ส่วนที่ อ.สามเงา ตาก เจอวาตภัยพัดบ้านเสียหายกว่า100 หลัง

16 เมษายน 2567, 09:03น.


           กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า ภาพถ่ายดาวเทียมและเรดาร์ เย็นวานนี้  (15 เม.ย.67) เมฆฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน หลายจังหวัดเจอพายุฤดูร้อน



           สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดเชียงใหม่ รายงานว่า ช่วงบ่ายวานนี้ เกิดพายุฤดูร้อน และมีลูกเห็บตก ในพื้นที่ ตำบลโป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานความเสียหาย



          จ.นครพนม พายุฤดูร้อน เมื่อช่วงค่ำวันที่ 14 เม.ย.67 ทำให้เกิดเหตุวาตภัย ลมกระโชกแรง ที่ตำบลบ้านผึ้ง อำเภอเมือง นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า บ้านเรือนประชาชน ได้รับความเสียหายจำนวนทั้งสิ้น 91 หลังคาเรือน จังหวัด ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม นายอำเภอเมืองนครพนม มอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบเหตุวาตภัยในพื้นที่แล้ว



         จ.ตาก นายสวนิต สุริยกุล ณ อยุธยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พร้อมด้วยนายอำเภอสามเงา เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตาก สำรวจพื้นที่ ประเมินความเสียหายจากเหตุวาตภัย และมอบสิ่งของอุปโภค-บริโภค ที่จำเป็น เพื่อให้กำลังใจผู้ประสบภัย ที่ประสบเหตุลมพายุกระโชกแรงจากพายุฤดูร้อน เมื่อวันที่ 14 เม.ย.67 ทำให้บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย ประกอบด้วย บ้านนาตาโพ หมู่ที่ 4 ต.วังจันทร์ อ.สามเงา ได้รับความเสียหาย 107 หลังคาเรือน เสียหายหนัก 14 หลังคาเรือน และบ้านวังน้ำผึ้ง หมู่ที่ 3 ต.วังจันทร์ อ.สามเงา ได้รับความเสียหาย 1 หลังคาเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต





          GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)  รายงานว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เปิดเผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) และจากดาวเทียมอีกหลายดวง เมื่อวันที่ 14 เม.ย.67 ไทยพบจุดความร้อนทั้งประเทศ 591 จุด ข้อมูลจากดาวเทียมยังระบุอีกว่าจุดความร้อนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 258 จุด ตามด้วยพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 149 พื้นที่เกษตร 82 จุด ชุมชนและพื้นที่อื่นๆ 52 จุด สปก. 39 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 11 จุด สำหรับจังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนมากที่สุด คือ แม่ฮ่องสอน 77 จุด



         ขณะที่ ประเทศเพื่อนบ้านพบจุดความร้อนต่อเนื่อง สูงสุดยังคงเป็นเมียนมา 2,610 จุด ตามด้วยลาว 2,385 จุด เวียดนาม 731 จุด ไทย 591 จุด กัมพูชา 243 จุด และมาเลเซีย 81 จุด



          ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในกรุงเทพมหานคร ประจำวันนี้ (16 เม.ย.67) เวลา 07.00 น.ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 22.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) 



         5 อันดับ ของค่าฝุ่นPM2.5 เขตสูงสุดในกรุงเทพมหานคร   



1.เขตบึงกุ่ม 27.8 มคก./ลบ.ม.



2.เขตคลองสามวา 27.2 มคก./ลบ.ม.



3.เขตดินแดง 26.2 มคก./ลบ.ม.



4.เขตสัมพันธวงศ์ 25.9 มคก./ลบ.ม.



5.เขตทวีวัฒนา 25.0 มคก./ลบ.ม.



ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์คุณภาพอากาศดี สีเขียว





#ลูกเห็บ



#วาตภัย



CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ กรมอุตุนิยมวิทยา,สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดตาก,กรุงเทพมหานคร 

ข่าวทั้งหมด

X