ศปถ.สรุปสงกรานต์วันแรก เกิดอุบัติเหตุ 234 ครั้ง เพิ่มจุดตรวจด่านชุมชน เข้มขับรถเร็ว

12 เมษายน 2567, 14:00น.


            นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า วันนี้ประชาชนบางส่วนเดินทางถึงภูมิลำเนาหรือสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว แต่ยังมีประชาชนส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างเดินทาง ศปถ.กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายจราจรเคร่งครัด พร้อมเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในการดูแลเส้นทางหลัก สายรอง และเส้นทางโดยรอบสถานที่ท่องเที่ยว คุมเข้มการขับรถเร็ว เมาแล้วขับ ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย รวมถึงเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจรถโดยสารสาธารณะ และดูแลความพร้อมของพนักงานขับรถ รวมถึงกวดขันจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในเวลาที่กำหนดเท่านั้น และไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี กรณีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ดื่มแล้วขับแล้วเสียชีวิต ให้มีการสืบสวนขยายผลเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่จำหน่าย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผู้ที่สนับสนุนให้เด็กดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 


            นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ (13 เม.ย. 67) เป็นวันมหาสงกรานต์ ซึ่งจะมีการเล่นน้ำสงกรานต์ของประชาชน ศปถ.ได้กำชับจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นจัดตั้งจุดตรวจของด่านชุมชนในเส้นทางสายรองเส้นทางเข้าออกชุมชน ถนน องค์การบริหาส่วนตำบล(อบต.) และหมู่บ้าน เพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่ต้นทาง พร้อมกวดขันกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ให้สวมหมวกนิรภัยและไม่ขับขี่ด้วยความคึกคะนอง รวมถึงตรวจสอบความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ และรถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสารในลักษณะเสี่ยงอันตราย 




            ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 11 เม.ย.67 ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ “ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” 


-เกิดอุบัติเหตุ 234 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 248 คน ผู้เสียชีวิต 25 ราย 


-สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 44.02 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 20.94 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 16.67 


-ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 86.07 ส่วนใหญ่ เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 85.90 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 47.01 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 23.50 


-ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01 – 17.00 น. ร้อยละ 8.55 


-ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20 – 29 ปี ร้อยละ 16.48 


-จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,729 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,203 คน 


-จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สงขลา (11 ครั้ง) 


-จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สงขลา (13 คน) 


-จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ  (3 ราย) 




#สงกรานต์2567


#ศปถ


CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM


 


 


 
ข่าวทั้งหมด

X