ทิศทางนโยบายการเงิน หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 5 ต่อ 2 เสียง ไม่เปลี่ยนแปลงจากการประชุมครั้งก่อนหน้า โดย 5 เสียงมองเห็นควรให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% และ 2 เสียง เห็นควรให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางนโยบายการเงินในระยะข้างหน้ายังขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงินในระยะข้างหน้าเป็นสำคัญ โดยยังคงต้องติดตามแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นทางการคลังที่อาจมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ตาม โอกาสที่กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. และ ส.ค. 67 ยังคงมีอยู่
เมื่อวานนี้ (10 เม.ย.67) ค่าเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ราว 36.3 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากราคาปิดตลาดเมื่อวันพุธ(9 เม.ย.67) ที่ระดับ 36.7 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาล่าสุด ประกอบกับมติคงดอกเบี้ยนโยบายของกนง.
กรรมการส่วนใหญ่ของกนง.มองว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงเห็นว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพขยายตัวต่ำลง นอกจากนี้ กนง. ยังส่งสัญญาณให้น้ำหนักต่อเสถียรภาพระบบการเงิน รวมถึงความผันผวนของค่าเงินบาท
กนง.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงจาก 3.2% ในการเผยแพร่ประมาณการเดือนพ.ย. 66 อยู่ที่ 2.6% ขณะที่ ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อปี 67 ลงจาก 2.0% มาอยู่ที่ 0.6%
#นโยบายการเงิน
#ดอกเบี้ย
CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ KResearch