การจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้า นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจสำนักงานเขต ครั้งที่ 3/2567 โดยมี คณะผู้บริหารสำนักเทศกิจ หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ 50 สำนักงานเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม นายจักกพันธุ์ ย้ำว่า การจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง กวดขันผู้ค้าให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะอย่างเคร่งครัด สำรวจตรวจสอบซากรถยนต์ที่จอดทิ้งไว้ในพื้นที่สาธารณะ เพื่อเพิ่มช่องทางเดินรถบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด จัดเก็บป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย ที่ติดตั้งบดบังทัศนียภาพกีดขวางทางเดินเท้า อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน ขอให้เจ้าหน้าที่เทศกิจยึดมั่นในศักดิ์ศรีและอุดมการณ์ ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ ยึดหลักความถูกต้อง เชื่อว่าไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ หากทุกท่านมุ่งมั่นตั้งใจจริง
ที่ประชุมได้รายงานผลการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน 86 จุด ผู้ค้า 4,541 ราย ประกาศเป็นพื้นที่ทำการค้าแล้ว 55 จุด ผู้ค้า 3,440 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาประกาศ 31 จุด ผู้ค้า 1,101 ราย เจ้าพนักงานจราจรไม่เห็นชอบ 9 จุด ผู้ค้า 692 ราย จากตรวจประเมินพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผันตามหลักเกณฑ์ฯ ปี 2563 และความเหมาะสมของพื้นที่ พบว่าพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน 86 จุด มีความเหมาะสม 73 จุด ไม่เหมาะสม 7 จุด ยกเลิกแล้ว 6 จุด ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน 544 จุด ผู้ค้า 13,210 ราย
ที่ผ่านมาได้มีการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า โดยยกเลิกจุด ยุบรวมจุด และย้ายเข้าพื้นที่เอกชน ซึ่งในปี 2567 จะดำเนินการยกเลิกจุดหรือยุบรวมจุด 105 จุด ในพื้นที่ทำการค้าที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยได้จัดหาพื้นที่รองรับผู้ค้าให้เข้าไปทำการค้าในจุดที่กำหนดไว้ โดยดำเนินการยกเลิกแล้ว 61 จุด คงเหลือ 44 จุด ดำเนินการยกเลิกนอกเป้าหมาย 43 จุด ปัจจุบันคงเหลือพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน 440 จุด ผู้ค้า 11,834 ราย
ทั้งนี้ผู้ค้าต้องหยุดทำการค้าทุกวันจันทร์ และร่วมกันล้างทำความสะอาดพื้นที่ทำการค้า ผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผันต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ฯ ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ค้าต้องตรงตามบัญชี ผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผันให้ยึดตามกฎหมาย แต่ในระหว่างดำเนินการให้นำหลักเกณฑ์ฯ ที่กำหนด มาบังคับใช้ โดยอนุโลมโดยเฉพาะขนาดแผงค้า การตั้งวางต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย
ด้านการจัดการซากยานยนต์จอดทิ้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2567 ตรวจพบซากยานยนต์ 1,434 คัน เจ้าของเคลื่อนย้าย 1,189 คัน สำนักงานเขตเคลื่อนย้าย 236 คัน และรอเคลื่อนย้าย 9 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567)
ผลการดำเนินงานตรวจจับผู้กระทำผิดฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ผ่านระบบ BMA AI CAMERA ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2566 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 มีผู้ฝ่าฝืนขับขี่บนทางเท้า 13,763 ราย อยู่ระหว่างเชิญพบครั้งที่ 1 จำนวน 4,596 ราย อยู่ระหว่างเชิญพบครั้งที่ 2 จำนวน 2,006 ราย ส่งต่อคดี 156 ราย ว่ากล่าวตักเตือน 225 ราย เปรียบเทียบปรับ 410 ราย เป็นเงิน 293,300 บาท
ส่วนการโครงการจัดระเบียบป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย ระว่างวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2567 สำนักงานเขตจัดเก็บ 206,555 ป้าย แจ้งความดำเนินคดี 84 ราย ส่งฝ่ายรายได้ 540 ป้าย เปรียบเทียบปรับ 6,561 ราย เป็นเงิน 17,935,200 บาท
นอกจากนี้ สำนักเทศกิจได้จัดทำแผนรักษาความปลอดภัย การจราจร และความเป็นระเบียบเรียบร้อยในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ พ.ศ.2567 ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2567 โดยตั้งจุดบริการประชาชนที่เดินทางออกจากกรุงเทพมหานคร จำนวน 11 จุด ประกอบด้วย เส้นทางเข้าออกเมือง 7 จุด สถานีขนส่งผู้โดยสาร 4 จุด รวมถึงพื้นที่จัดงานสงกรานต์ ได้แก่ ถนนข้าวสาร เขตพระนคร ถนนสีลม เขตบางรัก ลานคนเมือง เขตพระนคร เพื่ออำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ ประจำปี 2567
#กรุงเทพมหานคร
#จัดระเบียบบนทางเท้า
#จัดการซากรถเก่า