กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานยืนยันพบสัตว์ป่วยด้วยโรคไข้หวัดนกในฟาร์มโคนม 6 รัฐแล้ว โดยพบ 3 แห่งในรัฐแคนซัส, 2 แห่งในรัฐนิวเม็กซิโก, 7 แห่งในรัฐเท็กซัส และในรัฐโอไฮโอ ส่วนที่รัฐไอดาโฮ และรัฐมิชิแกน พบรัฐละ 1 แห่ง
ในรายงานระบุว่า เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับจากที่พบครั้งแรกที่รัฐเท็กซัสและรัฐแคนซัสเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ซึ่งคาดว่าจะติดเชื้อมาจากนกป่า
ส่วนกรณีของฟาร์มโคนมที่โอไฮโอ จากการสอบสวนโรคพบว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ฟาร์มได้รับวัวมาจากเท็กซัส ที่ต่อมายืนยันว่าพบการติดเชื้อไข้หวัดนก โดยมีความเป็นไปได้ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกจะแพร่ระบาดระหว่างวัวด้วยกันเองได้
และสายพันธุ์ของไวรัสที่พบในการระบาดในนิวเม็กซิโก, มิชิแกน และไอดาโฮ ก็มีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก
เมื่อวันจันทร์ (1 เม.ย.) สาธารณสุขของรัฐเท็กซัส รายงานว่าคนงาน 1 คนในฟาร์มโคนม ติดเชื้อไข้หวัดนก (ไวรัส HPAI A : H5N1) โดยมีอาการตาอักเสบ จากการสอบสวนโรคพบว่า โคนมติดเชื้อไข้หวัดนกแล้วแพร่ระบาดมายังผู้ป่วย
องค์การอนามัยสัตว์โลก (WOAH) เตือนว่า การแพร่เชื้อไข้หวัดนกไปยังสัตว์หลากหลายสปีชีส์ และการขยายตัวของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้นที่มนุษย์จะติดเชื้อ แต่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (CDC) มองว่าความเสี่ยงที่มนุษย์จะติดเชื้อไข้หวัดนกยังอยู่ในระดับต่ำ
นกอพยพเป็นปัจจัยหลักของการแพร่กระจายเชื้อไข้หวัดนกไปทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2565 ทำให้สัตว์ปีกและสัตว์สปีชีส์อื่น ๆ ติดเชื้อ ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าไข้หวัดนกอาจกลายเป็นโรคระบาดใหญ่ได้เหมือนกับโควิด19 จากสถิติขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2546 ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 มีรายงานการติดเชื้อไข้หวัดนกในมนุษย์ 887 รายจาก 23 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 462 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ผู้ป่วยอาจมีอาการไม่รุนแรง เช่น ไอ ปวดศีรษะ เจ็บคอ และมีไข้ ไปจนถึงอาการรุนแรง เช่น โรคปอดบวมที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
อาการอื่นๆ ของมนุษย์ ได้แก่ หายใจไม่สะดวก หนาวสั่น เหนื่อยล้า คัดจมูก ปวดกล้ามเนื้อ และในบางกรณีอาจเกิดเยื่อบุตาอักเสบ ซึ่งแพทย์จะสั่งจ่ายยาต้านไวรัส หรือการรักษาตามอาการ
...
#ไข้หวัดนก
#สหรัฐอเมริกา