สหประชาชาติ ระบุว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมามีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การยึดอำนาจทางการเมืองในปี 2564 ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และความต้องการพื้นฐานของผู้คนหลายล้านคน ส่งผลกระทบต่อเนื่องในภูมิภาค
นาย คาเลด คีอารี ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายกิจการการเมือง สหประชาชาติ กล่าวรายงานต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ว่าความสูญเสียชีวิตพลเรือนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากการที่กองทัพเมียนมาทิ้งระเบิดโจมตี และการตอบโต้ของกองกำลังฝ่ายต่างๆ
แม้ว่าฝ่ายกองทัพของรัฐบาลจะมีความได้เปรียบอย่างมากในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังคน แต่ก็กลับสูญเสียพื้นที่การปกครองให้แก่กลุ่มต่อต้านอย่างต่อเนื่อง นายคีอารี กล่าวว่า สภาที่ปรึกษาความสามัคคีแห่งชาติ ซึ่งก่อตั้งขึ้นหลังการยึดอำนาจในปี 2564 เพื่อส่งเสริมการหวนคืนสู่ประชาธิปไตย ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ การเมือง ภาคประชาสังคม และกลุ่มต่อต้าน จัดการประชุมสมัชชาประชาชนครั้งที่สองในวันพฤหัสบดีเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันสำหรับอนาคตของเมียนมา แต่ในเวลาเดียวกันการสู้รบในรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นพื้นที่ยากจนที่สุดของประเทศกำลังก้าวเข้าสู่ระดับความรุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กองทัพอาระกันเข้าควบคุมดินแดนส่วนใหญ่ของรัฐยะไข่ตอนกลาง และพยายามที่จะขยายไปยังตอนเหนือของรัฐยะไข่ซึ่งมีชาวโรฮิงญาพักอาศัยอยู่
นายคิอารี กล่าวด้วยว่า ความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนทำให้มีความไม่มั่นคงเกิดขึ้นทั่วไป การล่มสลายของหลักนิติธรรมทำให้อาชญากรรมทางเศรษฐกิจเติบโตขึ้น เมียนมากลายเป็นศูนย์กลางการผลิตยาบ้าและฝิ่นระดับโลก พร้อมกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเครือข่ายการหลอกลวงทางไซเบอร์ที่มีผู้เสียหายอยู่ทั่วโลก
นางลิซา โดเทน เจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมระดับอาวุโสของสหประชาชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงภายในประเทศ ส่งผลให้ประชาชน 12,900,000 คน หรือเกือบร้อยละ 25 ของประชากรทั้งประเทศ ไม่มีอาหารเพียงพอ ผู้คนประมาณ 18,600,000 คนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้น 19 เท่านับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564
...
#เมียนมา
#รัฐยะไข่