หมอยง ชี้ โรคแบคทีเรียกินเนื้อ ไม่ใช่โรคใหม่ กลุ่มเสี่ยงคือ ภูมิคุ้มกันต่ำ-กินยากดภูมิ

01 เมษายน 2567, 17:13น.


           นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับเรื่อง “แบคทีเรียกินเนื้อ” ความว่า แบคทีเรียกินเนื้อ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ไม่ใช่โรคใหม่ ส่วนใหญ่เกิดกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ กินยากดภูมิต้านทาน หรือมีโรคที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำ



          ส่วนข่าวขณะนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus group A เป็นแบคทีเรียที่เกิดโรคได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในคนที่แข็งแรงดีก็จะไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โต สามารถรักษาได้ แต่ถ้าภูมิต้านทานต่ำ และการติดเชื้อที่ผิวหนังก็จะทำให้ลุกลามอย่างรวดเร็วได้ อย่างที่เป็นข่าวในประเทศญี่ปุ่น ในประเทศไทยก็พบได้ แต่ไม่ได้มากมายและสามารถรักษาได้ มียาปฏิชีวนะที่รักษาเชื้อดังกล่าว



          ก่อนหน้านี้ หน่วยงานสาธารณสุขญี่ปุ่นออกโรงเตือนเรื่องการพบผู้ติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส หรือโรคไข้อีดำอีแดง หรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อ พุ่งสูงขึ้นในประเทศ โดยยอดผู้ติดเชื้อในกรุงโตเกียวปีนี้พุ่งขึ้นประมาณ 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นรายงานเมื่อเดือนมี.ค.ว่า ญี่ปุ่นตรวจพบผู้ติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีที่แล้         



          สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ยอดผู้ป่วยโรคไข้อีดำอีแดงที่พุ่งสูงขึ้นในญี่ปุ่นทำให้นักฟุตบอลเกาหลีเหนือยกเลิกการเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกในญี่ปุ่นแบบกะทันหัน โดยเดิมทีมีกำหนดจัดการแข่งขันขึ้นในวันที่ 26 มี.ค.



          ญี่ปุ่นตรวจพบผู้ติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสในระดับร้ายแรง (SSTS) แล้ว 474 ราย ซึ่งโรคดังกล่าวมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดที่ 30% โดยโรคดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อการติดเชื้อแพร่กระจายไปทั่วร่างกายและเสี่ยงทำให้อวัยวะล้มเหลว



 



 



#แบคทีเรียกินเนื้อ



 

ข่าวทั้งหมด

X