ญี่ปุ่นเพิ่มการเฝ้าระวังทางสาธารณสุข มีผู้ป่วยโรคคออักเสบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

29 มีนาคม 2567, 11:48น.


          กระทรวงสาธารณสุข ญี่ปุ่นเผยแพร่คำเตือนประชาชน ความเจ็บป่วยโรคคออักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตคอคคัส (streptococcus bacteria) เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดจึงมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อในโตเกียวสูงกว่าปีที่แล้วประมาณ 3 เท่า หากเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยทั่วประเทศพบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว



          สเตรปโตคอคคัล เอ (Streptococcal A) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สเตรปเอ (Strep A) โดยทั่วไปจะทำให้เด็กๆ มีอาการเจ็บคอ แต่รูปแบบที่รุนแรงของแบคทีเรีย อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน คือ อาการสเตรปโตคอคคัล ทอกซิก ช็อค ซินโดรม (Streptococcal Toxic Shock Syndrome : STSS) ณ วันที่ 10 มีนาคม ญี่ปุ่นมีผู้ป่วยกลุ่มอาการนี้ จำนวน 474 ราย โรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 30 หากการติดเชื้อแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย อาจทำให้อวัยวะล้มเหลวได้



          นาย ฮิโตชิ ฮอนดะ ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยสุขภาพฟูจิตะ กล่าวว่า โรคนี้ไม่ใช่โรคทางเดินหายใจ จึงไม่น่าจะนำไปสู่สถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรง และการรักษาสุขอนามัยเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันการติดเชื้อ



          ตามรายงานของเจแปน ไทมส์ ระบุว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรูปแบบรุนแรง (STSS) ในปีที่แล้วมีจำนวนถึง 941 ราย และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในปีนี้ เพราะเพียงแค่ 1 เดือนแรกของปีก็มีผู้ป่วยถึง 378 ราย ที่น่าเป็นกังวลคือการที่บางคนมีแบคทีเรียอยู่ในร่างกายแต่ไม่มีอาการ ยังสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้



          สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NIID) อธิบายว่า Strep A เป็นแบคทีเรียที่อยู่ในลำคอและบนผิวหนัง มักจะรักษาได้ง่าย แต่การติดเชื้อบางอย่างอาจทำให้มีอาการรุนแรง เช่น ไข้อีดำอีแดง เซลลูไลอักเสบพุพอง และกล่องเสียงอักเสบ ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ผู้ติดเชื้อที่รุนแรงจะมีไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้และอาเจียน ในกรณีที่รุนแรงที่สุดจะลุกลามไปสู่ภาวะติดเชื้อ อวัยวะล้มเหลว และเนื้อร้าย หรือที่เรียกว่า "โรคกินเนื้อ" เพื่อลดโอกาสที่จะติดหรือแพร่เชื้อ ขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ล้างมือบ่อยๆ



          นาย เคน คิคุจิ ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อที่มหาวิทยาลัยการแพทย์สตรีแห่งโตเกียว สันนิษฐานว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการลดระดับการป้องกันโควิด19 ลงมาอยู่ในระดับเดียวกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ขณะที่ คนญี่ปุ่นมากกว่าร้อยละ 50 ติดเชื้อไวรัสโควิด19 สถานะทางภูมิคุ้มกันหลังจากหายป่วยโรคโควิด19 อาจเปลี่ยนแปลงความไวต่อการสัมผัสจุลินทรีย์บางชนิดได้ จึงต้องมีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการติดเชื้อแบคทีเรียและควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว



...



#ญี่ปุ่น



#โรคคออักเสบ



 

ข่าวทั้งหมด

X