กทม.เผย 4 สาเหตุค่าฝุ่นจิ๋วพุ่งกลางดึกทั่วกรุง-GISTDA พบเมื่อคืนนี้ 47 เขต มีค่าฝุ่นสีแดง

21 มีนาคม 2567, 07:45น.


           เมื่อคืนนี้(20 มี.ค.67) ในโลกโซเซียล มีคำถาม ได้กลิ่นเหม็นไหม้ฟุ้ง คล้ายควันไฟ หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ค่ามลพิษก็พุ่งสูง


           สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รายงานว่า 23.00 น.แล้ว PM2.5 ยังแดงเดือดทั่วกรุงเกือบครบทุกเขต ภาพรวมทั้งประเทศพบ 7 จังหวัดภาคกลางแดงเช่นกัน


           ข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” เมื่อเวลา 23.00 น. วันที่ 20 มี.ค.67 พบ 47 เขตในพื้นที่กรุงเทพฯ  มีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ สูงสุดอยู่ที่เขต #ดอนเมือง 143.5 ไมโครกรัม ตามด้วย #หลักสี่ 143 ไมโครกรัม #บางซื่อ 139 ไมโครกรัม #จตุจักร 128.1 ไมโครกรัม #พญาไท 127 ไมโครกรัม #ราชเทวี 122 ไมโครกรัม #บางพลัด 121.4 ไมโครกรัม #ดุสิต 121.3 ไมโครกรัม #บางกอกน้อย 119.3 ไมโครกรัม #สายไหม 117.4 ไมโครกรัม #บางเขน 114.1 ไมโครกรัม เป็นต้น


           ขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศ พบ 7 จังหวัดภาคกลางมีค่าฝุ่น PM2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดง  มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ เช่นกัน ได้แก่ #นนทบุรี 113.4 ไมโครกรัม #ปทุมธานี 107.6 ไมโครกรัม #กทม. 91.5 ไมโครกรัม #นครนายก 91.1 ไมโครกรัม #สมุทรสาคร 91.1 ไมโครกรัม #นครปฐม 88.4 ไมโครกรัม และ #พระนครศรีอยุธยา 78.6 ไมโครกรัม


            นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร ให้คำตอบถึงสาเหตุของค่าฝุ่น PM2.5 ที่กลับมาพุ่งสูงใน กทม. 


1. ทิศทางลมวันที่ 20 มี.ค.67 เป็นทิศตะวันออกซึ่งต่างจากวันอื่นๆช่วงนี้ที่มาจากอ่าวไทย ส่วนจุดเผาในช่วง 24 ชม.ที่ผ่านมาพบที่ปริมณฑลหลายจุด 


2. ระยะนี้สภาพอากาศแปรปรวน มีพายุฤดูร้อน ประกอบกับเมื่อวันอังคาร(19 มี.ค.67) มีความกดอากาศสูงผ่านทางภาคอีสานลงมา ส่งผลให้ความสูงของชั้นบรรยากาศผสม (Mixing Height) ลดต่ำลง ฝุ่นละอองเกิดการสะสมตัวเพิ่มมากขึ้น 


3. ความชื้นในบรรยากาศทำให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 ทุติยภูมิ (Secondary PM2.5) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชนิดที่เกิดจากพวกสารประกอบไนโตรเจนและแอมโมเนียจะเกิดปฏิกิริยาได้ดีในสภาวะที่มีความชื้นสูง



4. รูปแบบฝุ่นทุติยภูมิ (Secondary PM2.5) เกิดจากก๊าซบางชนิดที่ลอยอยู่ในอากาศ เช่น ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำปฏิกิริยากับแสงแดด กลายเป็นฝุ่นลอยอยู่ในอากาศ มักเกิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม




           ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีกำมะถัน เช่น การเผาไหม้ถ่านหินหรือน้ำมัน ในโรงไฟฟ้า โรงถลุงโลหะ และโรงกลั่นน้ำมัน  ส่วนออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงภายใต้แรงดันอากาศที่สูง ทำให้เกิดการรวมตัวกันของออกชิเจนและไนโตรเจนเป็นไนตริคออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นก๊าซที่ไม่เป็นอันตราย แต่เมื่อขึ้นสู่บรรยากาศ NO จะถูกออกซิไดซ์ เป็นก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซึ่งมีสีเหลืองอมน้ำตาล เป็นสารพิษที่ระคายเคืองตา แหล่งกำเนิดหลักของออกไซด์ของไนโตรเจน เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในรถยนต์ การเผาไหม้ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ หรือกระบวนการอุตสาหกรรมในโรงงานผลิตปุ๋ยและวัตถุระเบิด





            ขณะที่ สถานีวิทยุ จส.100 ได้สัมภาษณ์ อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย อธิบายสาเหตุของกลิ่นเหม็นไหม้ดังกล่าวว่า กรุงเทพฯ และ นนทบุรี มีค่าฝุ่นในอากาศปริมาณสูง ซึ่งเกิดจากการจราจรที่หนาแน่น ควันเสียจากรถ ประกอบกับมีอากาศร้อนจัดติดกันหลายวัน พอมีฝนตกหนัก ทำให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulfur dioxide, SO2) ก๊าซที่มีกลิ่นรุนแรงเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ไปรวมกับน้ำฝน ทำให้เกิดปฏิกริยาทางเคมี กลายเป็นกรดซัลฟิวริก (กลิ่นกำมะถัน) ทำให้มีกลิ่นเหม็นไหม้กระจายไปทั่ว แต่กลิ่นดังกล่าวไม่มีผลต่อร่างกาย เพราะมันเกิดการเจือจางไปแล้ว แต่ที่ยังมีกลิ่นอยู่ เนื่องจาก หลังจากฝนตกหนักแล้ว ลมไม่ค่อยแรง ลมนิ่ง ทำให้อากาศไม่ถูกพัดไปไหน กลิ่นยังคงอยู่ ซึ่งถ้ามีลมแรงกว่านี้ก็จะช่วยให้กลิ่นเหม็นไหม้ หายไปได้


 


 


#กลิ่นเหม็นไหม้


CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) หรือ GISTDA,กรุงเทพมหานคร 


 
ข่าวทั้งหมด

X