ในโอกาสที่สหประชาชาติมีมติให้วันที่ 20 มี.ค.ทุกปี เป็นวันความสุขสากล(International Day of Happiness)ตั้งแต่ปี 2555 มีผลการวิจัยศึกษาเรื่องความสุขโลก(The World Happiness Report)ปี 2567 จัดทำโดยสำนักวิจัยแกลลัพ เวิลด์ โพล (Gallup World Poll) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยสุขภาวะของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด(Oxford Wellbeing Research Centre)และองค์กรเครือข่ายเพื่อการพัฒนายั่งยืนของสหประชาชาติ(UN Sustainable Development Solutions Network)
พบว่า ฟินแลนด์ รั้งอันดับที่ 1 ของโลกใน 10 อันดับแรกที่ประชาชนมีความสุขมากที่สุด ครองอันดับที่ 1 เป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน ด้วยคะแนน 7.741 คะแนนจาก 10 คะแนน อันดับที่ 2 เดนมาร์ก ได้คะแนน 7.583 คะแนน และอันดับที่ 3 ไอซ์แลนด์ได้คะแนน 7.525 คะแนน
ส่วนอีก 7 ประเทศ คือ สวีเดน อิสราเอล เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ ลักเซมเบิร์ก สวิตเซอร์แลนด์และออสเตรเลีย ส่วนท้ายตาราง ประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุดในโลก คือ เลบานอนในตะวันออกกลาง,เลโซโท,เซียร์ราลีโอน และคองโกในแอฟริกา ตามลำดับ
สำหรับประเทศไทย ในภาพรวมของทั่วโลกรั้งอันดับที่ 58 จาก 143 ประเทศและดินแดนทั่วโลก ได้คะแนน 5.976 คะแนน และติดอันดับที่ 7 ของเอเชีย ซึ่งเมื่อพิจารณารายทวีป สิงคโปร์ คว้าอันดับ 1 ในทวีปเอเชียติดต่อกันเป็นปีที่ 2 และรั้งอันดับ 30 จาก 143 แห่งทั่วโลก ได้คะแนน 6.523 คะแนน รองลงมาคือ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ประเทศไทย มาเลเซีย ประเทศจีน และมองโกเลีย ตามลำดับ ส่วนเมียนมา กัมพูชา อินเดีย ศรีลังกา และบังกลาเทศอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุดในเอเชีย
การสำรวจครั้งนี้ ประเมินชีวิตโดยเฉลี่ยของแต่ละบุคคลในช่วง 3 ปีระหว่างปี 2564-2566 วิเคราะห์ข้อมูลจาก 6 ปัจจัยสำคัญ คือ GDP ต่อหัว, อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี, การสนับสนุนทางสังคม, เสรีภาพ, ความเอื้อเฟื้อ และดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ซึ่งใช้ข้อมูลจากองค์กรต่าง ๆ เช่น ธนาคารโลกและองค์การอนามัยโลก (WHO)
#ผลสำรวจความสุขโลก
#วันความสุขสากล