IQAIR เปิดข้อมูล พบเกือบ 100 เมืองในเอเชีย มีมลพิษทางอากาศแย่ที่สุดในโลกเมื่อปี 2566

19 มีนาคม 2567, 16:41น.


         ซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างนายแฟรงก์ แฮมเมส ซีอีโอขององค์กรไอคิวแอร์ โกลบอล(IQAir Global) ซึ่งวิจัยเรื่องมลพิษทางอากาศทั่วโลกในปี 2566ว่า เกือบ 100 เมืองในเอเชีย มีมลพิษทางอากาศแย่ที่สุดในโลก ในจำนวนนี้ 83 เมืองอยู่ในอินเดีย มีค่า PM2.5 ในระดับอันตรายต่อสุขภาพ เกินมาตรฐานคุณภาพทางอากาศที่องค์การอนามัยโลก(WHO)กำหนดไว้กว่า 10 เท่า บ่งชี้ว่า วิกฤตจากสภาพภูมิอากาศเป็นองค์ประกอบสำคัญทำให้คุณภาพอากาศแย่ กระทบสุขภาพของประชาชนหลายพันล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะเอเชียกลางและเอเชียใต้ เป็นภูมิภาคที่มีมลพิษแย่ที่สุดในโลก คือ บังกลาเทศ ปากีสถาน อินเดียและทาจิกิสถาน



         สำหรับอินเดีย เมืองเบกูซาไร ในรัฐพิหารทางภาคเหนือของอินเดียซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ 500,000 คน มีค่า PM 2.5 เฉลี่ยทั้งปี 2566 อยู่ที่ 118.9 หรือสูงเกินมาตรฐานของ WHO ราว 23 เท่า นอกจากนั้น เมืองๆอื่นของอินเดีย เช่น เมืองกูวาฮาติ (รัฐอัสสัม) กรุงนิวเดลีและเมืองมุลลันปูร์ รัฐปัญจาบ มีค่า PM2.5 ในระดับสูงเกินมาตรฐานตามที่ WHO กำหนดไว้เช่นกัน รายงานระบุว่า โดยรวม ประชากร 1,300 ล้านคน หรือร้อยละ 96 ของประชากรทั้งหมดของอินเดียอาศัยอยู่ท่ามกลางมลพิษทางอากาศแย่กว่า มาตรการตามที่ WHO กำหนดไว้



         สำหรับประเทศไทย รอยเตอร์รายงานว่า ทางการไทยสั่งให้พนักงานในองค์กรของภาครัฐทำงานที่บ้านเมื่อเดือนที่แล้ว เนื่องจากค่า PM2.5 ในกรุงเทพฯเพิ่มสูงในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะเดียวกัน จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังแห่งหนึ่งของโลก มีมลพิษทางอากาศแย่ที่สุดเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว เป็นผลจากการขยะทางการเกษตร เช่น เผาตอซังข้าว ตามฤดูกาล ทำให้หมอกควันปกคลุมทั่วจังหวัดเชียงใหม่



         ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์มีค่า PM2.5 เฉลี่ยทั้งปี 2566 ลดลงเมื่อเทียบกับสถิติในปี 2565 ขณะที่อินโดนีเซียมีมลพิษทางอากาศแย่ที่สุด มีค่า PM2.5 เพิ่มร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับสถิติในปี 2565 รายงานระบุว่าเมื่อเราดูดอากาศเข้าสู่ร่างกาย ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ขนาด PM2.5 จะเข้าไปยังปอด ก่อนเข้าสู่กระแสเลือด และเป็นสาเหตุของโรคต่างๆเช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคปอด โรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆและระบบความจำเสียหายในกลุ่มเด็ก โดยปกติมลพิษทางอากาศมีต้นตอจากการเผาเชื้อเพลิงประเภทฟอสซิล และพายุฝุ่นควันจากไฟป่า



         การศึกษาครั้งนี้ มุ่งเน้นวิจัยเรื่อง PM2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่น ระบบทางเดินหายใจมากที่สุด มีเพียงร้อยละ 9 หรือ 10 ประเทศจากกว่า 7,800 เมืองในการวิจัยคุณภาพอากาศทั่วโลกขององค์กรไอคิวแอร์ โกลบอล เช่น ฟินแลนด์ เอสโตเนีย เปอร์โตริโก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เบอร์มิวดา เกรนาดา ไอซ์แลนด์ มอริเชียส และเฟรนซ์ โปลินีเซีย ที่มีมาตรฐานคุณภาพอากาศ ตามที่ WHO กำหนดคือ ระดับค่า PM2.5 เฉลี่ยทั้งปีไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร



#มลพิษทางอากาศ



#ฝุ่นพีเอ็มสองจุดห้า

ข่าวทั้งหมด

X