*ศ.รุสโซ ถอดบทเรียนการเมืองจากฝรั่งเศสถึงไทย ร่างรธน.จะดีแค่ไหนถ้าคนใช้ไม่เคารพกม.ก็ไร้ประโยชน์*

22 พฤษภาคม 2558, 17:52น.


การบรรยายเรื่อง"การถอดบทเรียนการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองสู่การปฎิรูปประเทศในระบอบประชาธิปไตย กรณีศึกษาการร่างรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ"ของศาสตารจารย์ โดมินิค รุสโซ แห่งมหาวิทยาลัยปารีส 1  ศาสตราจารย์ รุสโซ กล่าวถึงการทำประชามติ ที่ระบุในรัฐธรรมนูญ ของฝรั่งเศส ในมาตรา 11  ในยามที่ต้องการขอความเห็นจากประชาชน ถ้ามองตามแง่ประวัติศาสตร์ก็อาจจะใช่ และการมีเสียงประชามติก็อาจเป็นต้นทุนการเมืองที่ดีของสังคม เพราะได้รับการยอมรับจากประชาชน ในฝรั่งเศสเอง รัฐธรรมนูญปี1958 ก็ได้มีการเสนอลงประชามติเช่นกัน และเชื่อว่าการมีประชามติจะช่วยสร้างความชอบธรรมให้รัฐธรรมนูญได้ นอกจากนี้รัฐธรรมนูญจะต้องกำหนดกฎเกณฑ์ที่เป็นพื้นฐานของสังคมและคุ้มครองประชาชน เช่น หลักกฎหมายอาญา หลักกฎหมายแรงงานหรือ การให้ผู้ต้องสงสัยเป็นผู้บริสุทธิ์



แม้จะมีร่างรัฐธรรมนูญที่ดีแต่หากผู้ใช้ไม่ได้เคารพกฎหมายก็มองว่าไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะดีแค่ไหนก็ทำให้ไร้ประสิทธิภาพ  และก่อนปิดการบรรยาย นาย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ถามถึงการลงมติไม่ไว้วางใจด้วยซึ่ง ศ.รุสโซ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสตามม. 49 ได้กำหนดเกี่ยวกับการไว้วางใจรัฐบาลซึ่งกำหนดสิทธิให้รัฐบาลขอความไว้วางใจจากรัฐสภาได้ เมื่อมีการแถลงนโยบายของรัฐบาลหรือการเสนอกฎหมายของรัฐบาล อย่างไรก็ดีม.49 ก็ได้กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลและไม่ผ่านร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอได้เช่นกัน และถ้าไม่ได้รับความไว้วางใจรัฐบาลก็ต้องลาออกและยุบสภา ซึ่งมีผลทำให้ร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอเข้าสู่สภามีผลตกไปด้วยเช่นกัน





ส่วนการให้อำนาจพิเศษ เช่น ม. 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของไทยนั้น  ศ.รุสโซ กล่าวว่า ในฝรั่งเศส มีการกฎหมาย มาตรา16 ที่ดำรงมาจนปัจจุบั ซึ่ง นายพลชาร์ล เดอ โกล อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศสเคยใช้ ในการแก้ปัญหาสงครามของประเทศที่องค์กรทางการเมืองต่างๆไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งเดอ โกลขอให้เพิ่มมาตรานี้เข้ามาเพื่อรวบอำนาจทั้งสามฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการและบริหาร ม. 16 ในรัฐธรรมนูญปีค.ศ. 1958 เพื่อแก้ปัญหาในขณะนั้น   สำหรับการใช้ม. 16 ของฝรั่งเศสจะต้องแถลงถึงความจำเป็นของการใช้ต่อประชาชนก่อนและจะมีการเรียกประชุมรัฐสภาโดยอัตโนมัติเพื่อหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหา  และยังกำหนดขอบเขตการใช้อำนาจไว้เพื่อป้องกันการใช้อำนาจของประธานาธิบดีไปในทางที่มิชอบ โดยม.16 จะใช้ได้แค่การออกคำสั่งเพื่อป้องกันอำนาจอธิปไตยของประเทศ หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่องค์กรทางการเมืองไม่สามารถบริหารงานได้ตามปกติเท่านั้น



นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างถึงวิกฤติการณ์ 2005 ที่เป็นวิกฤติการณ์ทางสังคมในชานเมืองฝรั่งเศสที่วัยรุ่นออกมาสร้างความจลาจลทั่วประเทศ ซึ่งประธานาธิบดี ได้ตัดสินใจใช้กฎหมายฉุกเฉินแทนม. 16 หรือกฎอัยการศึก ซี่งมีความแตกต่างกันในการใช้บังคับ โดยในภาวะกฎอัยการศึกอำนาจทั้งหมดจะตกอยู่ในมือของทหาร ซึ่งตั้งแต่ที่ฝรั่งเศสมีรัฐธรรมนูญใหม่มากว่า 58 ปีไม่เคยมีการใช้บังคับกฎอัยการศึกเลยแม้แต่ครั้งเดียว  สำหรับการบรรยายครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันอังคารที่ 26 พฤษภาคมนี้ซี่งเป็นการบรรยายโดยนาย มิเชล โทเปอร์ จากมหาวิทยาลัยปารีสที่ 10 ของประเทศฝรั่งเศสเกี่ยวกับการบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญอีกเช่นกัน

ข่าวทั้งหมด

X