การบรรยายพิเศษเรื่อง "ถอดบทเรียนการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองสู่การปฎิรูปประเทศในระบอบประชาธิปไตย กรณีศึกษาการร่างรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ"ของศาสตราจารย์ โดมินิค รุสโซ แห่งมหาวิทยาลัยปารีส ศาสตารจารย์ รุสโซ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญต้องระวังไม่ให้เป็นเครื่องมือที่นำไปสู่วิกฤตการณ์และต้องแก้ไขปัญหาในอดีตให้ได้ ทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร หวังว่ารัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นใหม่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ ส่วนการรับผิดชอบทางการเมือง ต่างประเทศแม้จะมีกฎหมายบัญญัติให้ถอดถอนหรือลงมติไม่ไว้วางใจได้ แต่กลับพบว่าเมื่อมีการทำผิดของนักการเมือง ส่วนใหญ่จะลาออกเองโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือดังกล่าวมาบังคับซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงการเคารพรัฐธรรมนูญโดยชอบ ซึ่งตัวเองมองว่าเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการร่างรัฐธรรมนูญที่ดีแต่ไม่มีการเคารพเสียอีก ศ.รุสโซได้เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญเหมือนรถยนต์ว่ารถยนต์ทุกประเทศมีอุปกรณ์รถยนต์ มีคันเร่งและมีเบรกเหมือนกัน ซี่งก็เปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญที่มีเหมือนกันทุกประเทศแต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลในฐานะผู้ขับรถยนต์จะเบรกหรือเหยียบคันเร่งเพื่อพัฒนาประเทศด้วยรัฐธรรมนูญไปในแนวทางใด หากเหยียบคันเร่งมากเกินไปเชื่อว่าจะก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง แต่หากเบรกรถบ่อยครั้งก็จะทำให้ประเทศไม่พัฒนา ดังนั้นจะต้องขับเคลื่อนไปในทางที่สมดุล
สำหรับ ระบบการเลือกตั้ง น่าแปลกที่อังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญสูงสุดแต่พบว่ากลับสร้างระบบการเมืองที่มีประสิทธิภาพได้ เชื่อว่าเป็นสาเหตุมาจากระบบการเลือกตั้งที่ดี เห็นได้จากระบบเลือกตั้งอังกฤษที่ใช้การเลือกตั้งรอบเดียว ทำให้ เกิดรัฐบาลเสียงข้างมากมีเสถียรภาพที่เห็นได้จากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน แม้จะการกล่าวว่าระบบเลือกตั้งนี้ไม่ค่อยเป็นธรรม แต่เมื่อเทียบกับระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนที่เป็นธรรมแต่ก่อให้เกิดรัฐบาลผสม ทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ เมื่อเทียบกันแล้ว จึงมองว่าการกำหนดระบบการเลือกตั้งที่ดีแบบอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญมาก เชื่อว่าการมีระบบเลือกตั้งที่ดีจะส่งผลการพัฒนาประเทศได้มากกว่าการมีรัฐธรรมนูญที่ดี
ดังนั้นเป็นสิ่งสำคัญของผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่าจะเลือกวิธีใดที่จะส่งผลประสิทธิภาพต่อประเทศมากที่สุด รุสโซยังกล่าวถึงการทำประชามติด้วยว่า เป็นเรื่องสำคัญโดยยกตัวอย่างในสเปน ที่แคว้นคาตาลันขอทำประชามติแยกตัวจากรัฐบาลกลาง แต่รัฐบาลกลางอ้างกฎหมายการห้ามทำประชามติจนก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองต่างกับอังกฤษที่มีการอนุญาตให้ทำประชามติการแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรของสกอต์แลนด์ ซึ่งเห็นได้ว่าการทำประชามติส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นคณะกรรมาธิการยกร่างฯจะต้องคิดถึงกรอบแนวคิดนี้ให้ชัดเจนด้วย
ผสข.ธีรวัฒน์