*ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา08.30น.*

22 พฤษภาคม 2558, 09:06น.


+++ ผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีลักทรัพย์เงินของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประมาณ1,600 ล้านบาท  นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ที่หลบหนีไปต่างประเทศก่อนหน้านี้เดินทางกลับไทยขอมอบตัวพล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปรับตัวที่สุวรรณภูมิ จะมีการแถลงเวลา 10.00น.ที่สตช.คดีนี้ มีผู้ต้องหาทั้งหมด 14 คน ประกอบด้วย นายทรงกลด ศรีประสงค์, น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์, นายพูนศักดิ์ บุญสวัสดิ์, นายจริวัฒน์ สหพรอุดมการ, นางสมบัติ โสประดิษฐ์, น.ส.จันทร์จิรา โสประดิษฐ์, นางระดม มัทธุจัด, นายภาดา บัวขาว, ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี สจล., นายศรุต ราชบุรี และผศ.ดร.สรรพสิทธิ์ ลิ่มนรรัตน์ อดีตผู้ช่วยอธิการบดี สจล. รวมถึงผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีอีก 3 คน คือนายกิตติศักดิ์  นายสมพงษ์ สหพรอุดมการ และนายธวัชชัย ยิ้มเจริญ สำหรับสำนวนคดีนี้มีช่วงระยะเวลาเกิดเหตุ ระหว่างปี 2555-2556 ส่วนก่อนหน้านั้นหรือระหว่างที่คาบเกี่ยวปี 2556-2557 ที่พบว่ายังมีเงินของ สจล.สูญหายไปอีกส่วนหนึ่ง ก็ต้องสอบสวนต่อไปให้เร็วที่สุดว่าจะมีผู้ใดเกี่ยวข้องอีกบ้าง เพื่อจะได้พิจารณาออกหมายเรียกหรือขออนุมัติศาลออกหมายจับเพิ่มเติมต่อไป



+++ช่วงบ่ายวันนี้ เวลา 13.30-16.30 น. กระทรวงการต่างประเทศ จัดบรรยายพิเศษ ถอดบทเรียนการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองสู่การปฏิรูปประเทศในระบอบประชาธิปไตย กรณีศึกษาการร่างรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดย Prof.Dominique Rousseau ศาสตราจารย์วิชากฏหมายรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยปารีส ฝรั่งเศส นักวิชาการจากฝรั่งเศส-เยอรมนี มาเล่าประสบการณ์จัดทำรัฐธรรมนูญฝ่าวิกฤติขัดแย้ง เพื่อนำมาปรับใช้กับไทย โดยตัวแทนแม่น้ำ 5 สาย จะเข้ารับฟังทั้ง3 วัน คือ วันนี้ และวันที่ 26-27 พ.ค.แต่นักวิชาการที่เชิญมาจะไม่ได้มาวิจารณ์รัฐธรรมนูญของประเทศไทย โดยคณะทำงานจะนำประสบการณ์ของสองประเทศนี้ มาเทียบเคียงกับไทยว่า จะมีประเด็นใดที่จะนำมาปรับใช้ได้บ้าง โดยขณะนี้ได้เชิญ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ องค์กรอิสระ คณะกรรมการกฤษฎีกาเข้าร่วมรับฟังตามกำหนดการแล้ว เมื่อคณะทำงานได้ศึกษาวิจัยเสร็จก็จะสรุปรายงานเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.)



+++ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดกในวาระที่ 3 มีปมน่าสนใจคือ รัฐบาลจะแก้ให้ยกเว้นการเสียภาษีที่มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ขณะที่กรรมาธิการให้ยกเว้น 100 ล้านบาท



+++ความเคลื่อนไหวด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ2559 วงเงิน 2.72 ล้านล้านบาท ด้วยมติเห็นชอบ 186 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 50 คน แบ่งเป็นสัดส่วนคณะรัฐมนตรี( ครม.) 10 คน สนช. 40 คน โดยแปรญัตติ 15 วัน  สำหรับภาพรวมการอภิปรายงบประมาณ สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่เป็นห่วงภารกิจของส่วนราชการที่ซ้ำซ้อนกัน และต้องการให้รัฐบาลวางระบบตรวจสอบการใช้จ่ายงบที่โปร่งใส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ รายงานภาวะเศรษฐกิจทั่วไป และนโยบายการคลังการเงินของประเทศว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.7-4.7 ใกล้กับการขยายตัวในปี 2558 ปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก ซึ่งคาดว่าจะทำให้การส่งออกสามารถกลับมาขยายตัวได้มากขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกและราคาสินค้าเกษตรสำคัญมีแนวโน้มจะมีเสถียรภาพและเริ่มปรับเปลี่ยนสูงขึ้น รวมทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง ตามกรอบการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น



+++ นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวว่า งบประมาณขาดดุลไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะเป็นการขาดดุลเพื่อพัฒนาประเทศเหมือนที่ญี่ปุ่นทำ และขณะนี้รัฐบาลมีภาระต้องจ่ายหนี้โครงการรับจำนำข้าว รวมกับหนี้สินของรัฐวิสาหกิจเป็นเงิน 7.2 แสนล้านบาท



+++นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2559 มีการจัดสรรงบในส่วนเงินเดือน ค่ารักษาพยาบาล และสวัสดิการข้าราชการสัดส่วนร้อยละ 35 ของงบประมาณ ใกล้เคียงกับงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2558 แต่ภาครัฐจำเป็นต้องคุมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เพราะไม่เช่นนั้นจะมีผลกระทบต่องบลงทุน จากการพิจารณาจะเห็นได้ว่า ปีงบประมาณ 2553-2558 งบลงทุนต่ำกว่าร้อยละ 20 โดยตลอด หากรัฐบาลต้องการให้งบลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 จะต้องเลิกโครงการประชานิยม และหากจะปรับบัญชีเงินเดือนข้าราชการก็ต้องรอหลังปี 2561



+++นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า วันนี้จะมีการประชุมร่วมกับผู้บริหารธนาคารรัฐ เพื่อสรุปแพ็กเกจ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ พร้อมกับเสนอให้ นายกฯ รับทราบในโอกาสที่เดินทางมาประชุมหัวหน้าส่วนราชการที่กระทรวงการคลัง วันที่ 3 มิ.ย.นี้ด้วย โดยมาตรการกระตุ้นรอบใหม่จะมีการให้ธนาคารรัฐทุกแห่งปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้มีเงินทุนหมุนเวียนและสภาพคล่องมากขึ้น ธนาคารรัฐทุกแห่งต้องนำเสนอแพ็กเกจของตัวเองว่ามีอะไรบ้าง จากนั้นนำหารือกับ รมว.การคลัง เพื่อสรุปแพ็กเกจเสนอนายกฯ หรือแยกไว้ให้แต่ละธนาคารรัฐดำเนินการเอง หรือทำเป็นแพ็กเกจรวมโครงการใหญ่ ขณะเดียวกันก็จะมีการจัดงานประชาสัมพันธ์แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 ภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าถึงมาตรการมากที่สุดอีกด้วย



+++นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธนาคารจะเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับลูกค้าของธนาคาร เป็นเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ให้กับผู้สูงอายุดอกเบี้ยร้อยละ 2.29 ต่อปี ระยะเวลาฝาก 4 เดือน ผู้ฝากต้องมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ต้องฝากไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 5แสนบาท นอกจากนี้ จะมีสินเชื่อสำหรับแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่จะประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้ารับทราบถึงรายละเอียดมากขึ้น



+++ธนาคารออมสิน มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้กู้โครงการธนาคารประชาชน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งจะเป็นมาตรการเพิ่มเติมให้กับเอสเอ็มอีแบงก์ เพราะเอสเอ็มอีแบงก์อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ขณะที่ธนาคารอาคาร สงเคราะห์ (ธอส.) เตรียมออกสินเชื่อดอกเบี้ยร้อยละ 0 เพื่อลดภาระแก่ผู้ซื้อบ้านในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี



+++แนวโน้มของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การสำรวจดัชนีความสามารถการแข่งขันธุรกิจเอสเอ็มอีไทยในไตรมาสที่ 1/2558 พบว่า  ขณะนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีร้อยละ 20 ของผู้ประกอบการทั่วประเทศมีปัญหาขาดส่งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้  เพราะได้รับผล กระทบจากยอดขายสินค้าที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และการขาดแคลนสภาพคล่องอย่างหนัก จึงอยากให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวน่าเป็นห่วงมากสำหรับการทำธุรกิจของเอสเอ็มอี แต่ก็ยังไม่เข้าสู่ภาวะอันตรายเพราะธุรกิจในจำนวนดังกล่าว แม้จะมีปัญหาสภาพคล่องแต่ส่วนใหญ่ก็ยังสามารถประคองกิจการออกไปได้ เพราะจะหยุดชำระหนี้แค่ 1-2 เดือนแล้วเดือนที่ 3 ก็สามารถหาเงินมาชำระหนี้ต่อไปได้ ยอมรับว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 ธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ในช่วงถดถอย มีการกู้หนี้ ยืมสิน และยังไม่รับรู้ว่ามีรายได้เข้ามา แต่ในไตรมาส 2 สถานการณ์ของธุรกิจเอสเอ็มอีจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะประโยชน์ที่จะได้รับจากนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น การสนับสนุนสินเชื่อให้เอสเอ็มอี, นาโนไฟแนนซ์ และการปรับปรุงโครงสร้างภาษี เป็นต้น



+++ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ก็เป็นอีกแนวนโยบายที่จะมาช่วยเอสเอ็มอี เพราะจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและธุรกิจได้เร็วขึ้น  เบื้องต้น หากทุกธนาคารลดอัตราดอกเบี้ยลงหมดอย่างต่ำร้อยละ 0.1 ก็สามารถช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการได้แล้ว 10,000 ล้านบาท



+++สถานการณ์ค่าเงินบาทในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มผันผวน จากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยตลาดจับตาการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของยุโรปและญี่ปุ่น รวมทั้งจังหวะเวลาของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ  นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตลาดยังคงกังวลต่อการชะลอตัว ของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากส่งผลต่อการ ส่งออกของภูมิภาคเอเชีย ที่เริ่มเห็นสัญญาณการหดตัวลงตั้งแต่ต้นปี ซึ่งคงต้องติดตามประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง และการปรับลดสัดส่วน เงินทุนสำรองของธนาคารพาณิชย์(อาร์อาร์อาร์) ลงอีก 2 ครั้ง  ดังนั้นในช่วงที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกยังมีความไม่แน่นอนมีความเปราะบาง ค่าเงินยังมีโอกาสที่จะเคลื่อนไหวผันผวนได้ ทั้งสองทิศทาง ผู้ประกอบการจึงไม่ควรจะวางใจ ควรทำการประกันความเสี่ยงด้านเงินตราต่างประเทศ ซึ่งในระยะหลัง ธปท. ก็ได้ผ่อนผัน ในเรื่องการใช้เอกสารและการใช้ประมาณการยอดภาระในการนำเข้าส่งออกให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นแล้ว



+++ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดการซื้อขาย ในแดนบวก ดัชนีดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 0.34 จุด  ปิดที่ 18,285.74 จุด ส่วนดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 4.97 จุด  ปิดที่ 2,130.82 จุด ขณะที่ดัชนีแนสแด็กเพิ่มขึ้น 19.05 จุด ปิดที่ 5,090.79 จุด กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 16 พ.ค. เพิ่มขึ้น 10,000 ราย แตะ 2 แสน 74,000 ราย เพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ 2 แสน 71,000 ราย       

 

ข่าวทั้งหมด

X