*ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา07.30น.*

22 พฤษภาคม 2558, 06:56น.


+++ 22 พ.ค. ครบรอบ 1 ปี การเข้าบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. จะแถลงความคืบหน้าการทำงานของ คสช.ผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติเวลา 20.15 น. ตามด้วยการชี้แจงการทำงานของฝ่ายเศรษฐกิจรัฐบาล โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมแถลง อย่างไรก็ตามในรายการฯ นายกฯจะกล่าวถึงเหตุผลที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงผลงานที่ คสช.ในการรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อชี้แจงทำความเข้ากับประชาชน



+++พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์นายแอนดรู สตีเวน บรรณาธิการด้านเอเชียแปซิฟิกของสำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น ในโอกาสครบรอบ 1 ปีการทำรัฐประหาร โดยชี้แจงเหตุที่เข้ามาบริหารประเทศพร้อมยืนยันว่าไม่เคยต่อต้านประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นแบบโลกตะวันตกหรือตะวันออก เป็นทหารภายใต้ระบอบประชาธิปไตยมาตลอดชีวิต สนับสนุนรัฐบาลทุกรัฐบาล แต่รัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้ เรามีโรดแมปไปสู่ประชาธิปไตย จะนำไปสู่กระบวนการเลือกตั้งตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ เดิมราวเดือนต.ค. ปีนี้ แต่ได้ถูกเลื่อนออกไป  ซึ่งอย่างเร็วที่สุดคงจะเลือกตั้งได้ประมาณเดือนส.ค.-ก.ย. 2559 เนื่องจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบันต้องผ่านขึ้นตอนการทำประชามติ



+++ด้านพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคสช. พอใจการทำงานช่วง 1 ปี เพราะสามารถทำให้สถานการณ์สงบเรียบร้อยมากขึ้นจะพยายามทำงานให้ดียิ่งขึ้น ต้องขอความร่วมมือประชาชน ในขณะเดียวกันทางศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) จะเชิญกลุ่มต่างๆ ทั้งนักการเมืองและนักวิชาการร่วมเสนอแนะข้อคิดเห็นเป็นครั้งที่ 2 เดือนมิ.ย.นี้ ภายหลังจากที่ได้เคยเชิญมาพูดคุยแล้วก่อนหน้านี้



+++การเตรียมเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี( ครม.)และ คสช.มีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เท่าที่ฟังความเห็นของ คสช.และ ครม.แก้ไขเพียงจุดเดียวคือการทำประชามติเท่านั้น ทั้งนี้ตามกำหนด สปช.จะต้องให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ส.ค. จึงจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดให้ทำประชามติให้เสร็จก่อนเดือนส.ค. เพื่อให้มีกฎหมายรองรับ ส่วนตัวเห็นว่าการทำประชามติต้องสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งการทำประชามติต้องกำหนดไว้มากกว่ารับหรือไม่รับร่างเท่านั้น และหากประชามติไม่ผ่านจะดำเนินการอย่างไรต่อ ต้องมีการดำเนินการให้รอบคอบด้วย



+++นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ต้องกำหนดประเด็นที่จะทำประชามติ ซึ่งต้องถามประชาชนว่าจะรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะง่ายกว่าการถามหลายประเด็นพร้อมกัน โดยการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จะมีผลผูกพันกับรัฐบาล และต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 46 ก่อน



+++การเดินทางเยือนอินโดนีเซียของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอย่างเป็นทางการ พ.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร หารือกับพล.อ.ไรอามิซาร์ด ไรอาซูดู (Ryamizard Ryacudu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียและคณะ ถึงแนวทางแก้ปัญหาของชาวโรฮิงญา โดยหารือร่วมกันถึงการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม พร้อมทั้งได้เชิญอินโดนีเซียร่วมหารือการแก้ปัญหา ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม 29 พ.ค.2558 รวมถึงปัญหาการทำประมงผิดกฏหมาย รัฐบาลไทยกำลังเร่งดำเนินการแก้ปัญหาให้ถูกต้องตามกฏหมายสากลทั้งเรื่องการรายงาน การจดทะเบียนและการควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือประมงไทยที่ทำผิดกฏหมายในน่านน้ำอินโดนีเซียและมีแรงงานไทยถูกจับ  โดยประเทศไทยประสงค์ที่จะช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ติดค้างให้สามารถกลับไทยได้ทั้งหมด จึงขอให้กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียช่วยประสานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผลักดันการแก้ปัญหาโดยตั้งเป็นคณะกรรมการร่วมกันทั้งสองฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย รับที่จะไปประสานหารือกับส่วนราชการภายในเพื่อหาแนวทางให้ความช่วยเหลือลูกเรือประมงที่ติดค้างให้สามารถกลับประเทศไทยได้



+++พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ  กล่าวว่า จากรายงานของกระทรวงการต่างประเทศพบว่าจำนวน ลูกเรือประมงที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา ได้ช่วยเหลือเพื่อส่งตัวกลับ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2557- 20 พ.ค. 2558 มีจำนวน 567 คน ขั้นตอนของการส่งลูกเรือไทยกลับ ทางการอินโดนีเซียต้องสอบสวนเพื่อให้ทราบว่าเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์หรือไม่ เพื่อจะสืบสวนเชื่อมโยงเอาผิดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป ส่วนฝ่ายไทยต้องดำเนินการเรื่องของการออกหนังสือสำคัญประจำตัว (Certificate of Identity-C.I.) เพื่อให้ลูกเรือไทยใช้เป็นเอกสารในการเดินทางกลับประเทศไทย



+++ที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 9 ส่วนหน้า (ศปก.ตร.ภ.9 สน.) สภ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พล.ต.ต.พุทธิชาต เอกฉันท์ รอง ผบช.ภ.9 และโฆษก ศปก.ตร.ภ.9 สน.  พร้อม พ.ต.อ.โชติ ชัยชมพู  ผกก.สส.ภ.9  แถลงว่า เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาได้อีก 10 คน แยกเป็นการเข้ามอบตัว 5 คน  ประกอบด้วย นายโปเซี๊ย อังโชติพันธุ์ หรือโปเซี่ย  ญาตินายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง, นายสมพล อาดำ ส.อบจ.สตูลเขต อ.เมือง, นายสมบูรณ์ สันโด, นายสมเกียรติ แก้วประดับ และนายวุฒิ วุฒิประดิษฐ์ อดีตตำรวจ จ.สตูล ส่วนอีก 5 คนถูกจับได้ขณะหลบหนี ประกอบด้วย นายอับดุลลาซีด มันตะสุม, นายหมัดยุโส๊ป  บิลเหล็ม, นายเจ๊ะเต๊ะ ยะฝาด, นายหมิด หมอชื่น และนายอูเซ็น ชาวบังกลาเทศ ซึ่งทั้งหมดเป็นเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ใน จ.สงขลา สตูล และระนอง ภาพรวมของคดีเท่ากับว่ามีการออกหมายจับไปแล้วทั้งหมด  77 หมายจับ ควบคุมตัวมาดำเนินคดีแล้ว 44 คน จึงยังเหลือผู้ต้องหาอีก 33 คนที่ยังอยู่ระหว่างหลบหนี รวมถึงการสอบขยายผลในทางลับเรื่องเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหารที่มีการระบุว่าเชื่อมโยงด้วย



+++ขณะที่ นายเดชรัฐ  สิมศิริ  ผู้ว่าฯสตูล กล่าวถึงเรือมนุษย์ของชาวโรฮิงญาลอยลำอยู่ในน่านน้ำเมียนมาร์และกำลังมุ่งหน้ามายังไทยด้านหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา หรืออาจจะเข้ามาใกล้เกาะตะรุเตา จ.สตูล ว่า หากพบจริงจะดำเนินการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ก่อนผลักดันให้เดินทางยังประเทศที่ต้องการต่อไป ซึ่งในอนาคตคาดว่าน่าจะมีระลอกใหม่อพยพลอยลำมาอีก หากความขัดแย้งในรัฐยะไข่ยังรุนแรงขึ้น



+++เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558, พ.ร.บ.ระเบียบเงินเดือนเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558, พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 และพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2558 มีสาระสำคัญให้ปรับเพิ่มเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการชั้นผู้น้อยทุกประเภทตั้งแต่ระดับ 1–7 ในอัตราร้อยละ 4 ของเงินเดือนที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนข้าราชการทุกประเภททุกระดับ เพิ่มขึ้นอีก ไม่เกิน ร้อยละ 10 โดยให้มีผลทันทีหลังจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้มีผลบังคับย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2557 ทั้งนี้ การปรับขึ้นเงินเดือนและโครงสร้างเงินเดือนครั้งนี้จะใช้เงินงบประมาณประจำปี 2558 เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมข้าราชการ รวม 1.98 ล้านคน



 

ข่าวทั้งหมด

X