*สนช.รับหลักการร่างพ.ร.บ.งบประมาณ2559 เน้นใช้อย่างมีประสิทธิภาพ*

21 พฤษภาคม 2558, 20:17น.


การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสนช.ที่เป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2559 ล่าสุดที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการในวาระแรกแล้ว ด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์ 186 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ตั้งคณะกรรรมาธิการแปรญัตติ 50 คน แบ่งเป็นจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)10 คน และสนช.40 คน แปรญัตติ 15 วัน



ก่อนหน้านี้ เป็นการอภิปรายกันอย่างหลากหลายของของสมาชิกสนช. นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล สมาชิกสนช. อภิปรายว่า จะทำอย่างไรให้มีการใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิผล เพราะไทยได้จัดสรรงบประมาณในแต่ละด้านเป็นจำนวนมาก และจะมีการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้จากการสังเกตในเอกสาร จะพบว่าส่วนใหญ่หน่วยราชการจะของบประมาณในการบูรณาการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งควรจะต้องดูว่าจะลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานและจะเพิ่มประสิทธิภาพอย่างไร  พร้อมกันนี้มองว่าปัญหาธุรกิจเอสเอ็มอี ควรจะได้งบประมาณมากกว่าที่ตั้งไว้ ซึ่งทั้งหมดนี้รัฐจะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง



 ด้านนายวรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า ประเด็นสำคัญขณะนี้ คือ การใช้จ่ายและการลงทุนของภาคประชาชน การส่งออก-นำเข้าจากต่างประเทศ และการใช้จ่ายของรัฐบาล จะมีมาตรการอย่างไรให้เกิดเป็นประโยชน์มากที่สุด และขณะนี้สิ่งที่ไทยขาดแคลนคือโครงสร้างพื้นฐานทุกประเภท ที่เป็นสิ่งจำเป็นต่อประชาชน แต่จะทำอย่างไรในเมื่องบลงทุนมีประมาณ 5 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งต้องใช้เวลา 10 ปีในการดำเนินการ



จากนั้น นายสมหมาย ภาษี   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ2559 เป็นงบประมาณขาดดุล เนื่องจากในอดีต 2-3 ปีเศรษฐกิจติดลบจำนวนมากจากภาวะไม่ปกติ ดังนั้นจะต้องใช้งบประมาณขาดดุลเพื่อเติมการกระตุ้นเศรษฐกิจและผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ส่วนงบลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาทเป็นงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและคมนาคม ซี่งจะเป็นเงินในส่วนของรัฐประมาณ 86,000ล้านบาทส่วนที่เหลือเป็นเงินที่สรรหามาจากการกู้และการร่วมมือกับภาคเอกชน



 ด้านพล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า หลังจากได้รับงบประมาณมาแล้วจะปฏิบัติงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่สุด และจะดำเนินการจัดเก็บภาษีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปใช้พัฒนาให้เกิดประโยชน์ในท้องที่ให้มากที่สุด  ที่สำคัญจะป้องกันการทุจริตให้ได้มากที่สุด



ขณะที่นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวโดยสรุปว่า ในเรื่องการศึกษาได้มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการศึกษา รวมไปถึงเพื่อการปฏิรูปครู ขณะที่การพัฒนาสังคม รัฐบาลมีนโยบายจัดสรรงบประมาณ จำนวน500ล้านบาทในปี2558 เพื่อพัฒนาในด้านดังกล่าว รวมถึงการดำเนินการสมทบทุนสวัสดิการชุมชน ยืนยันว่ารัฐบาลได้เร่งพัฒนาตามลำดับความสำคัญอย่างดีที่สุด และจากนี้จะนำประเด็นต่างๆของสมาชิกไปพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อทำให้งบประมาณมีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน



ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์  สิทธิเกรียงไกร



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X