กทม.ยังรอ คำตอบจาก กก.ควบคุมอาคาร กรณี แอชตัน อโศก หลังศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง

07 มีนาคม 2567, 16:26น.


          กรณีสำนักงานศาลปกครอง แถลงข่าวให้ กทม.บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการคอนโดฯ แอชตัน อโศก ตามกรอบเวลา 3 เดือน นายวิศนุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมาในวันที่ 27 ก.ค. 66  ซึ่งในส่วนของกทม.ไม่แน่ใจว่าจะต้องส่งหนังสือแจ้งใครตาม มาตรา 41 แห่ง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่ประกอบด้วย เจ้าของห้องชุด นิติบุคคลอาคารชุด และบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) จึงได้ทำหนังสือ เพื่อหารือ คณะกรรมการควบคุมอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง เมื่อ ส.ค. 66 และคณะกรรมการตอบกลับเมื่อ ต.ค. 66 ว่า ประเด็นที่หารือ การปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยให้ กทม.สอบถามไปยังสำนักงานศาลปกครองซึ่งต่อมา มีการตอบกลับมาว่า กรณีการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องภายหลังคำพิพากษา อยู่นอกเหนือจากคำบังคับของศาล เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ต้องพิจารณาตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง



          ดังนั้น กทม. จึงส่งหนังสือหารือกับคณะกรรมการควบคุมอาคารอีกครั้งเมื่อ 27 ธ.ค. 66 ขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว มีการประชุมอยู่หลายครั้ง เพื่อให้ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แก้ไขปัญหา ระยะเวลาดำเนินการ 180 วัน  หากมีการตอบกลับให้เป็นดุลยพินิจของสำนักการโยธาเป็นผู้ดำเนินการ กรุงเทพมหานคร จะส่งหนังสือแจ้งไปยังบริษัท อนันดา ซึ่งปฏิบัติได้ง่ายกว่า การส่งหนังสือแจ้งให้เจ้าของห้องชุดทุกห้อง ได้ทราบซึ่งจะมีการแจ้งไปให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล โดยให้ยื่นขอใบอนุญาตการก่อสร้างใหม่ ไม่ได้มีการสั่งให้รื้ออาคาร



          ทั้งนี้จะต้องให้ทันภายในระยะเวลา 3 เดือนอยู่แล้วการปฏิบัติตามกฎหมายมีหลายแนวทาง ไม่ว่าจะหาทางเข้าออกอื่น ซึ่งบริษัทอนันดาก็ต้องหาทางมา เพราะการรื้อ ทุบ อาคาร ไม่น่าจะเป็นไปได้ หากตามเชิงกฎหมายจริงๆ แอชตัน อาจต้องลดความสูงขนาดอาคาร หรือตามที่ รฟม.ดำเนินการให้ที่เวนคืนสมวัตถุประสงค์ก่อน ซึ่งกระทรวงคมนาคมเข้าใจปัญหาเรื่องนี้อยู่



          ย้อนไปเมื่อ ปี  พ.ศ.2559 จุดเริ่มต้นของปมปัญหาจนนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง โดยชาวบ้านบริเวณสุขุมวิท 19 จำนวน 15 คน มอบอำนาจให้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่มีนาย ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้องที่ศาลปกครองกลาง ต่อ ผอ.เขตวัฒนากับพวกรวม 5 คน ฐานออกคำสั่งอนุญาตให้ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ ตั้งอยู่บนถนนอโศก ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 เนื่องจากมีปัญหาที่ทางเข้าออกของคอนโด ไม่เป็นไปตามข้อบังคับของการก่อสร้างอาคารสูงที่ต้องมีความกว้างขนาด 12 เมตร



          ข้อพิพาทสำคัญคือ ที่ดินบริเวณนั้น รฟม.หรือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ไปเวนคืนมาจากเจ้าของเดิม และรฟม.นำมาพัฒนาสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ในขณะที่บริษัท อนันดาได้ทำสัญญาสร้างอาคารจอดรถ และขอใช้ทางเข้าออกในพื้นที่นั้น แต่ขนาดความกว้างไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด



          การฟ้องร้องในคดีนี้ไม่ได้เป็นการฟ้องบริษัท อนันดาโดยตรง แต่ผู้ถูกฟ้อง คือ ผอ.สำนักงานเขตวัฒนา กับพวกรวม 5 คนคือ ผอ.สำนักการโยธา กทม. ,ผู้ว่าฯ กทม.,ผู้ว่าการฯ รฟม. และ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยบริษัท อนันดา ได้ต่อสู้คดีด้วยการชี้ถึงกระบวนการก่อสร้างโครงการนี้ว่าได้ผ่านกระบวนการพิจารณา ตรวจสอบทุกอย่างถูกต้องจากหน่วยงานรัฐมาโดยตลอด และขณะเดียวกันต้องแก้ปัญหากับผู้อยู่อาศัยที่เข้าไปอยู่ในโครงการแอชตัน อโศก ที่ได้รับผลกระทบเรื่อยมาด้วยเช่นกัน



          ต่อมา ในปี พ.ศ.2564 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเพิกถอนการก่อสร้างโครงการ แอชตันอโศก เพราะการก่อสร้างไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จากนั้นได้มีการยื่นอุทธรณ์ และมีการพิจารณาปมปัญหาหลายส่วนเรื่อยมา



          จนกระทั่งมาถึงเมื่อวานนี้ 27 ก.ค.2566 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง เพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้างโครงการ คอนโด แอชตัน อโศก เพราะที่ดินดังกล่าวเป็นของรัฐ ที่เอกชนจะมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ การอนุญาตให้ก่อสร้างจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย



          โครงการแอชตัน อโศก มูลค่า 6,480 ล้านบาท เป็นคอนโดมิเนียมสูง 51 ชั้น มีห้องพัก 668 ยูนิต มีผู้อยู่อาศัยราว 580 ครัวเรือน เป็นคนไทย 438 ราย ต่างชาติจาก 20 ประเทศ 142 ราย 



 



#แอชตันอโศก



#กรุงเทพ



 

ข่าวทั้งหมด

X