*รอบวัน:หน.คสช.แถลง1ปี22พ.ค./เมียนมาร์ส่งตัวแทนประชุมโรฮิงญา/รายชื่อขรก.รอบ2*

21 พฤษภาคม 2558, 08:20น.


*ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30



+++พรุ่งนี้ 22 พ.ค. ครบรอบ 1 ปี การเข้าคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช.  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะแถลงความคืบหน้าผลงานอีกครั้ง วันนี้ ขอบคุณประชาชนที่เข้าใจสถานการณ์ประเทศ เว้นแต่บางคนบางพวกไม่เข้าใจ ก็ควรไปพิจารณากันเองว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป ประเทศชาติจะไปอย่างไร แล้ววันนี้สิ่งสำคัญคือการรักษาความสงบเรียบร้อยเดินหน้าประเทศ แก้ไขปัญหาเร่งด่วนจัดระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณไม่ให้ซ้ำซ้อน ไม่รั่วไหล นี่คือสิ่งที่ท่านต้องประเมินให้ การประเมินของตน พอใจทุกด้าน แต่ไม่ภูมิใจ ส่วนที่ไม่ภาคภูมิใจคือทำไมให้มายืนอยู่ตรงนี้ ทำไมไม่ทำกันมา เลือกตั้งกันมาไม่ใช่หรือ



++++พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม กล่าวถึงภาพรวมการทำงานครบรอบ 1 ปี คสช. นับตั้งแต่ยึดอำนาจวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ว่า ถ้าถามตนก็เหน็ดเหนื่อยมาทั้งปี เพราะตอนยังไม่เป็นรัฐมนตรีก็ทำหน้าที่เป็นประธานที่ปรึกษา คสช. และเมื่อมาเป็นรัฐมนตรีก็ทำงาน ทุกอย่างเดินตามที่หัวหน้า คสช.บอกตลอด เชื่อว่ามีความก้าวหน้า ประเทศชาติสงบสุข อย่างไรก็ดีอยากขอให้สื่อมวลชนช่วยประเมินผลงานด้วย แต่ทุกอย่าง คสช.จะทำให้ดีที่สุด   เมื่อถามว่า 1 ปีที่ใช้กฎอัยการศึก จนถึงการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ประเมินผลเป็นอย่างไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เป็นการพยายามควบคุมสถานการณ์ให้ดีที่สุด



++++ส่วนครม.และ คสช.มีมติเอกฉันท์อย่างชัดเจนให้แก้รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) เพื่อเปิดช่องไว้ทำประชามติในอนาคต นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วาระพิเศษ วันที่ 25 พฤษภาคม เพื่อพิจารณาคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 2558  โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นว่าควรจะพิจารณาเพิ่มเติม ถ้ามีความเห็นเพิ่มเติมจะรวบรวมไปอยู่ในคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ คิดว่าจะส่งคำขอแก้ไขได้ทันเวลาในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้



+++ส่วนแนวทางรองรับหากทำประชามติไม่ผ่าน มีอยู่แล้ว ต้องเขียนไว้ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราว มีคำตอบอยู่แล้วแต่พูดไม่ได้ในขณะนี้ เพราะยังไม่ถึงเวลาต้องเลือก และยังอยู่ในกระบวนการปรึกษากับหลายฝ่าย มีกระบวนการไว้อยู่แล้ว เช่น .กลับไปตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการขึ้นมาใหม่ หรือ ให้องค์กรใดองค์หนึ่งหรือหลายองค์กร เช่น ครม.ร่วมกับองค์กรใดก็ได้ เสนอให้นำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาบังคับใช้ ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะใช้ทางใด เพราะแต่ละทางมีข้อเสียอยู่



+++นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ. ยกร่างฯ ให้สัมภาษณ์กรณี ครม.มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลา กมธ.ยกร่างฯพิจารณาข้อเสนอแนะแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญจากเดิม 60 วันไปอีกไม่เกิน 30 วัน เป็น 90 วัน ว่า กมธ. ยกร่างฯไม่ได้เป็นคนเสนอ เข้าใจว่าทาง ครม.คงเห็นว่ากระบวนการยกร่างฯเป็นเรื่องฉุกละหุก จึงได้เสนอให้แก้ไขเพิ่มระยะเวลา ช่วงระยะเวลา 60 วันตามกำหนดการเดิม ทาง กมธ.ยกร่างฯจะต้องพิจารณาแบบไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้ทัน  ขณะนี้ กมธ.ยกร่างฯยังไม่มีการหารือว่าจะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นใด เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการรอคำขอแก้ไขจาก สปช. คสช.และ ครม.ต้องส่งกลับมายัง กมธ.ยกร่างฯภายในวันที่ 25 พฤษภาคม แต่หาก สปช.ไม่เห็นชอบก็ไม่ต้องเตรียมอะไร เนื่องจากต้องตั้ง สปช.และ กมธ.ยกร่างฯขึ้นมาใหม่ และผมจะไม่กลับมาแล้ว



+++นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง คาดว่าน่าจะเดือนมกราคม 2559 และการเลือกตั้ง ส.ส. น่าจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม และเดือนตุลาคมเป็นการเลือกตั้ง ส.ว. ส่วนการเตรียมความพร้อมทำประชามติ ได้หารือกันในที่ประชุม กกต.ว่าจะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนของการดำเนินการทำประชามติและการรณรงค์เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ         



+++นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หารือทวิภาคีกับนายตัน จ่อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศเมียนมา จากนั้นนายตัน จ่อ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เมียนมากำลังพิจารณาจะส่งผู้แทนมาร่วมประชุมระดับผู้ปฏิบัติหรือเจ้าหน้าที่อาวุโสว่าด้วยเรื่องโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ ภายหลังที่ได้รับหนังสือเชิญจากไทยแล้ว ส่วนความเป็นไปได้ที่เมียนมาจะรับชาวโรฮิงญากลับประเทศ นายตัน จ่อ กล่าวว่า สิ่งแรกที่จำเป็นต้องทำคือพิสูจน์สัญชาติให้ชัดเจนว่าบุคคลเหล่านี้มาจากเมียนมาจริงหรือไม่ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องมีขั้นตอนดำเนินการ หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นชาวเมียนมาจริง เป็นไปได้ที่เมียนมาจะพิจารณารับกลับประเทศ  นายดอน กล่าวว่า ขณะนี้มี 17 ประเทศและ 3 องค์กรระหว่างประเทศตอบรับจะเข้าร่วมประชุมแล้วรวมถึงเมียนมาและบังกลาเทศ การประชุมนี้จะมองในภาพรวมทั้งหมด ตั้งแต่การแก้ไขปัญหาเร่งด่วนสำหรับผู้ที่ยังลอยเรืออยู่ในทะเล ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะสั้น สำหรับผู้ที่ขึ้นฝั่งแล้ว จะได้รับการดูแลให้ที่พักพิงชั่วคราว  



+++ส่วนกรณีมาเลเซียและอินโดนีเซียประกาศพร้อมให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่ชาวโรฮิงญา แต่ไทยยังสงวนท่าที รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า  นายกรัฐมนตรีกล่าวชัดเจนแล้วไทยให้การดูแลคนเหล่านี้มาตลอด โดยใช้กฎหมายภายในประเทศดูแลเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย และดูแลในส่วนจำเป็น ซึ่งไม่ต่างจากเพื่อนบ้านที่ระบุว่าจะรับดูแลเป็นการชั่วคราวระยะเวลา 1 ปีก่อนจะให้กลับออกไป แต่การแสดงความรับผิดชอบของไทยมีมาก่อนหน้านั้น



+++พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงปัญหาโรฮิงญาว่า ไทยถูกจับจ้องจากองค์กรต่างๆ นอกประเทศ ที่ยังไม่เข้าใจ ซึ่งหากประเทศเหล่านั้นดูแลเรื่องสิทธิให้กับชาวโรฮีงญาที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย และถ้าจะช่วยประเทศไทย ก็ช่วยรับไปดูแลบ้างก็จะดี ซึ่งองค์ต่างๆ ต้องเห็นใจประเทศไทยด้วย เนื่องจากเราแบกรับภาระมามาก ถ้าเห็นว่าประเทศไทยควรทำอย่างไรให้ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน ชาวโรฮิญาที่หลบหนีเข้ามาอาจจะต้องการไปประเทศที่มีความพร้อม ซึ่งมีหลายประเทศที่จ้องมองประเทศไทยว่าควรจะทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง และที่ผ่านมาไทยก็ดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้อง แต่ท่านช่วยรับชาวโรฮงญากลับไปด้วยเพราะประเทศของท่านมีความพร้อมเช่นกัน



+++ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดเผยถึงการสอบปากคำ นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือ โกโต้ง อดีตนายก อบจ.สตูล ผู้ต้องหารายสำคัญในคดีดังกล่าวว่า ยังคงให้การปฏิเสธ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดอยู่ในสำนวนการสืบสวนสอบสวน ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ยืนยันว่า ยังไม่พบหลักฐานเชื่อมโยงกับนักการเมืองคนใด รวมทั้งนายพลที่ถูกอ้างว่าพบชื่อในบัญชีของผู้ต้องหาที่จับกุมได้ก่อนหน้านี้



+++ขณะนี้ได้มีการคัดแยกชาวโรฮิงญาที่เดินทางเข้าในประเทศไทยออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และในส่วนของเหยื่อค้ามนุษย์ ซึ่งถ้าพบว่าเป็นการลักลอบเข้าเมืองจะส่งตัวให้ทาง ตม. ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้จะใช้วิธีการผลักดันกลับประเทศ แต่ปัจจุบันไม่สามารถที่จะทำเช่นนั้นได้ จึงต้องหาวิธีการจัดการอีกครั้ง ส่วนผู้ที่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ จะมีการควบคุมตัวไว้ที่ด่านกักกันเพื่อทำการฟื้นฟู ซึ่งขณะนี้พบว่าเรือของชาวโรฮิงญาที่จะเข้ามาในฝั่งไทยน้อยลง เนื่องจากมีการสกัดกั้น ปิดเส้นทางเข้าออก โดยหากพบว่าหลังจากนี้มีเรืออพยพเข้ามาอีก ก็จะไม่รับขึ้นฝั่งในประเทศไทยแล้ว



+++ปัญหาข้าราชการทุจริต  พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวถึง การส่งรายชื่อข้าราชการที่อาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตเพิ่มเติมให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ว่าต้องทยอยดำเนินการ โดยรายชื่อเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกถึงความสำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะบางรายชื่อได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว นอกจากนี้รายชื่อที่ได้รับบางส่วนยังไม่ถูกต้อง ขณะที่นายประเสริฐ อภิปุญญา กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 1 ใน 45 ที่ถูก คสช.สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. โดยข้อเท็จจริงคือ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรบุคคล ได้อนุมัติโบนัสพนักงานและผู้ปฏิบัติงานทั้งสำนักงาน กสทช. จำนวน 35 ล้านบาทให้แก่พนักงาน 831 คน โดย 2 คนในนั้นลาไปศึกษาต่อ ส่วนตัวเห็นว่าการที่มีการส่งข้อมูลที่นำไปสู่การออกคำสั่ง คสช. น่าจะมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งส่วนตัว ดังนั้น จะนำข้อมูลความไม่ปกติทั้งหมดยื่นให้ทาง สตง.และ ป.ป.ช.เพื่อขอให้เข้ามาตรวจสอบ ส่วนจะยื่นเรื่องร้องเรียนไปถึง คสช.หรือไม่นั้นจะขอปรึกษากับผู้ใหญ่ให้รอบคอบก่อน

ข่าวทั้งหมด

X