*สรุปข่าว19.35น.*

20 พฤษภาคม 2558, 18:37น.


+++กรณีทางการมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เตรียมเสนอที่จะให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่ชาวโรฮิงญาทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันเหมือนเดิมว่าเราเป็นประเทศกลางทาง วันนี้เป็นการประชุมกระทรวงการต่างประเทศในระดับ 3 ประเทศ ซึ่งที่จริงแล้วประเทศเรามีปัญหามากกว่าของเขา แต่เราก็เห็นด้วยเรื่องนโยบายต่างๆ แต่ปัญหาอยู่ที่จะรับที่ไหน ค่อยว่ากันอีกครั้ง ในการประชุมวันที่ 29 พ.ค.แต่อย่าทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับทุกประเทศ



+++พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงตัวเลขผู้อพยพ 9,000 คน ว่า จากข้อมูลเบื้องต้น มีรายงานว่าชาวโรฮิงญาทั้งหมดมีประมาณ 1.4 - 2 ล้านคน ในความหมายของนายกฯ คือต้องการให้ผลการประชุม 15 ประเทศ ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ก่อน และเห็นว่าทั้ง 3 ประเทศ ที่คุยกันในวันนี้จะรีบไปทำไม เพราะภาพใหญ่ของอาเซียนยังไม่ได้คุยกัน และยังไม่ควรจะไปตกลงอะไรกันในตอนนี้ พล.อ.วิลาศ กล่าวว่า วันนี้ต้องรู้ว่าปัญหาที่ต้นทางเกิดจากอะไร และเราต้องรู้ประวัติศาสตร์ แต่ไม่ได้หมายความว่าเข้าไปกดดันประเทศต้นทาง เพราะปัญหานี้ถือเป็นเรื่องของมนุษยธรรม ที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ อย่าไปตำหนิกัน ซึ่งวันนี้เราในฐานะประเทศกลางทางจะถูกตำหนิอย่างเดียวไม่ได้ หรือจะไปกดดันต้นทางก็ไม่ได้ เพราะต้องเข้าใจประเทศต้นทางที่ทำใจยากกับเรื่องนี้



+++เรือผู้อพยพชาวโรฮิงญา ที่ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศพบที่นอกชายฝั่งประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้รับความช่วยเหลือจากชาวประมงอินโดนีเซีย ที่จังหวัดอาเจะห์ ทางเหนือของอินโดนีเซีย โดยเรือลำนี้ถูกพบครั้งแรกในวันพฤหัสบดีในสภาพที่เครื่องยนต์เสีย จากนั้นก็สูญหายไป โดยเรือลำนี้มีผู้อพยพมากกว่า 400 คน ถูกขบวนการค้ามนุษย์ปล่อยทิ้งไว้ในทะเลเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ ทำให้ทั้งหมดอยู่ในสภาพหิวโหย อย่างไรก็ตาม ผู้อพยพเล่าว่า พวกเขาได้รับอาหารและน้ำจากเจ้าหน้าที่ไทย จากนั้นจึงเดินทางต่อมา



+++ทางการเมียนมาร์ แถลงท่าทีในเชิงบวกครั้งแรกว่า รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทุกคน โดยกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาร์ แถลงว่า รัฐบาลมีความกังวลต่อวิกฤตลี้ภัยของชาวโรฮิงญาเช่นเดียวกับประชาคมโลก และยินดีจะช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยทุกคนที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากการล่องเรือในทะเล ถือเป็นคำแถลงในเชิงประนีประนอมครั้งแรกของรัฐบาลเมียนมาร์ และแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของกระบวนการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เพิ่งปฏิเสธความรับผิดชอบ



+++หลังการประชุมศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอตช. เปิดเผยว่า รายชื่อข้าราชการที่มีการทุจริตรอบที่ 2 มีการทยอยส่งมา ในส่วนท้องถิ่นได้รับรายงานว่า หัวหน้าหน่วยงานที่ออกไปแล้ว แต่ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคนใหม่ที่มาทำหน้าที่แทนซึ่ง ต้องตรวจสอบต่อไป  การทำงานทุกอย่าง ต้องมีความเป็นธรรม มีข้อมูลที่ครบถ้วน



 +++พล.อ.ประยุทธ์  เปิดงานการประชุมผู้ค้าข้าวโลก Thailand Rice Convention 2015 และกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ยุทธศาสตร์ด้านการตลาดข้าวและนโยบายการค้าข้าวของไทย โดยสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ ออกตรวจสอบโรงสีทั่วประเทศว่ามีคุณภาพจริงหรือไม่ เพราะทุกปีรัฐต้องใช้เงินจ้างโรงสีดูแลสต็อกข้าววงเงินเป็นหมื่นล้านบาท  หากพบว่า โรงสีใดไม่มีคุณภาพก็ต้องถูกปิด จากนั้น รัฐจะจ้างโรงสีในระบบของสหกรณ์ที่อาจทำเป็นโรงสีย่อยหรือโรงสีกลาง เข้ามาดูแลแทน ซึ่งการตรวจสอบครั้งนี้ได้มอบเป็นนโยบายให้ทำโดยเร็ว



+++พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติให้ลานเทและโรงสกัดรับซื้อผลปาล์มดิบจากเกษตรกรทันทีที่ 17% ในราคา 4 บาท 20 สตางค์/กิโลกรัม หากมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันเพิ่ม ให้บวกเปอร์เซ็นต์ละ 30 สตางค์ โดยให้ตั้งคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ข้อมูลของรัฐบาล ในมาตรการแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันทุกระยะ ทั้งเร่งด่วน ระยะสั้นใน 3 เดือน และระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาอย่างเต็มระบบครบวงจร โดยจะออกกฎหมาย พ.ร.บ.ปาล์มแห่งชาติ เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.การยาง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม 3 หน่วยงานหลัก และมีมติให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร( ธ.ก.ส.)ขออนุมัติใช้เงินจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ให้นำเงินหมุนเวียนที่มีอยู่กว่า 2,000 ล้านบาท มารับซื้อน้ำมันปาล์มไว้ในสตอก เพื่อแก้ปัญหาราคาตกต่ำ



+++ส่วนสถานการณ์ภัยแล้ง นายกฯ ระบุว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งซ้ำซากทั่วประเทศกว่า 3,000 ตำบล ได้สั่งการให้ส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดูแลและแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด หากยังประสบปัญหาแล้งซ้ำซากในพื้นที่ดังกล่าวอีก ก็ต้องมีการดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ถ้ายังเกิดแล้งซ้ำซากในพื้นที่เดิมอีก ก็ต้องดำเนินการเพราะถือว่าได้สั่งการให้แก้ไขไปหลายครั้งแล้



+++นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง ความเคลื่อนไหวทางด้านข่าวกรองในวันครบรอบการทำงานครบ1 ปี วันที่  22 พ.ค. 2558 นายสุวพันธ์ กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำงานอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงอาจจะมีบางกลุ่มที่อาจจะจัดกิจกรรมของเขา แต่ไม่ใช่ในลักษณะที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน สำหรับการเฝ้าระวัง ทางการข่าวเขาทำเต็มที่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเทศกาล ครบรอบหรือไม่ครบรอบทำอยู่ตลอด 



+++นายกฯ  กล่าวว่า พอใจในการทำงานทุกด้าน แต่ไม่ภูมิใจที่ได้มายืนตรงจุดนี้ และขอบคุณประชาชนที่เข้าใจสถานการณ์ในประเทศ แต่ยอมรับว่ายังมีบางกลุ่มที่ไม่เข้าใจ ก็ไปพิจารณาว่าควรทำอย่างไรต่อไป และจะแถลงถึงความก้าวหน้าในการทำงาน ให้รอฟังด้วย



+++นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และคสช. มีมติจะขยายกรอบเวลาการทำงานของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญจาก 60 วันเป็น 90 วัน ว่า เป็นเพียงข้อเสนอที่ไม่ใช่คำขอของกมธ.ยกร่างฯ ซึ่งครม. และคสช.อาจเห็นว่ากรอบเวลาเดิม 60 วันจะฉุกละหุก แต่กมธ.ยกร่างฯเห็นว่าเพียงพอสำหรับการทำงาน  ทั้งนี้ หากขยายเวลาจริงอาจกระทบต่อโรดแมปที่วางไว้ โดยเฉพาะวันลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ส่วนกระแสข่าวที่กมธ.ยกร่างฯ จะตัดบางมาตราในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่เป็นความจริง เป็นเพียงความเห็นของกมธ.บางส่วน ไม่ใช่มติของที่ประชุม เพราะต้องรอดูคำเสนอแก้ไขที่จะส่งมาวันที่ 25 พ.ค.นี้และเชิญผู้เสนอแก้ไขมาชี้แจงต่อกรรมาธิการยกร่างฯ ก่อนจึงจะทราบว่าจะปรับแก้อย่างไร



+++นายวุฒิสาร ตันไชย กมธ.ยกร่างฯ เปิดเผยความคืบหน้าการพิจารณาคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งขณะนี้มีกำหนดการเชิญผู้ที่ขอแก้ไขในแต่ละกมธ. เพื่อมาชี้แจงต่อกมธ.ยกร่างฯระหว่างวันที่ 2-7 มิ.ย. ยืนยันว่า กมธ.ยกร่างฯจะพิจารณาอย่างรอบคอบและมีเหตุผล เพื่อนำข้อมูลต่างๆมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขภายใน 60 วัน



+++ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ กล่าวว่ารัฐบาลนี้พยายามควบคุมไม่ให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างหวือหวาเกินไป รวมทั้งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยเฉพาะการส่งออกให้แข่งขันได้ โดยการปรับยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการลงทุนใหม่ คาดว่าจะเริ่มเห็นผลการเปลี่ยนแปลงในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศไทยใน 2 ปีข้างหน้า ส่วนกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  (จีดีพี) ไตรมาสที่ 1/2558 ขยายตัวร้อยละ 3 ว่าส่วนหนึ่งที่จีดีพีขยายตัวได้เพียงร้อยละ 3 มาจากการปรับสูตรการคำนวณตัวเลขจีดีพีใหม่ ไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์จากภาคการท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4 ซึ่งตัวเลขนี้มาจากการเปิดโรงงานใหม่ ขอแค่การส่งออกกลับมาเป็นปกติ จีดีพีก็อาจจะบวกได้จากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 4 แต่การส่งออกก็ต้องดูตลาดหลักของไทยเพราะจีนการส่งออกก็ติดลบอยู่ถึงร้อยละ 10 ขณะที่ญี่ปุ่นก็ติดลบอยู่ถึงร้อยละ 5  ซึ่งถ้าสองตลาดนี้ฟื้นการส่งออกของเราก็จะฟื้นตัวได้  ส่วนการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง แต่การอ่อนค่าของเงินบาทจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกอย่างชัดเจนในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพราะต้องรอการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่จะทยอยเข้ามา



+++หุ้นไทย ปิดที่1,520.11 จุด ลดลง 5.85 จุด มูลค่าซื้อขาย 44,586.47 ล้านบาท



+++ดัชนีฮั่งเส็ง ตลาดหุ้นฮ่องกง ปิดตลาดปรับตัวลดลงในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนรอดูรายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีการเปิดเผยในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ หรือเช้าวันพรุ่งนี้ตามเวลาไทย ลดลง 108.49 จุด ปิดที่ 27,585.05 จุด



+++ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวของญี่ปุ่น ปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปีในวันนี้ เพราะได้แรงหนุนจากรายงานที่ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่นในไตรมาสแรกปีนี้ ขยายตัวแข็งแกร่งกว่าการคาดการณ์ ปิดพุ่งขึ้น 170.18 จุด แตะที่ 20,196.56 จุด ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2543



+++สถานการณ์ที่เนปาล นายแม็กดี มาร์ติเนซ-โซลิแมน ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติ(ยูเอ็น)เปิดเผยว่า เนเปาลต้องเรียนรู้จากประเทศต่างๆที่เผชิญแผ่นดินไหว เช่นเม็กซิโก และการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการสร้างอาคาร หลังเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงถึง2 ครั้งเมื่อวันที่ 25เม.ย.และวันที่ 12พ.ค. ทำให้ประชาชนเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 8,622 ศพและสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนกับอาคารต่างๆถึง 7 แสน 56,000 หลัง รัฐบาลเนปาล ระงับการก่อสร้างอาคารใหม่เป็นเวลาสองเดือนเพื่อทบทวนกฎหมายว่าด้วยการสร้างอาคารฉบับปัจจุบัน หลังเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่บังคับใช้กฎหมายการสร้างอาคารและปล่อยให้มีการสร้างตึกสูงไม่แข็งแรง ทั้งนี้ อาคารหลายพันหลังในเมืองหลวงเนปาลได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวและหลายพื้นที่ประกาศเป็นเขตอันตรายซึ่งจำเป็นต้องมีการรื้อถอน





CR:รัฐบาลไทย,AFP

ข่าวทั้งหมด

X