หลังจากประเทศจีนให้คำมั่นต่อประชาคมโลกว่าจะเข้มงวดกวดขันมากขึ้นในเรื่องการอนุมัติโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินใหม่ๆ พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาดจากโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของจีน เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนไม่ให้สู่ระดับพีคภายในปี 2573
ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ผลวิจัยใหม่ของสถาบันวิจัย โกลบอล เอ็นเนอร์ยี มอร์นิเตอร์(GEM)ของสหรัฐฯและศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศสะอาด(CREA)ของฟินแลนด์ระบุว่า ประเทศจีน ผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์อันดับหนึ่งของโลก เสี่ยงพลาดเป้าการลดภาวะโลกร้อน หลังอนุมัติโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่กว่า 10 แห่ง หลังประเทศจีนมีปัญหาขาดแคลนกระแสไฟฟ้าในปี 2564
ในช่วง 2 ปีที่แล้ว ประเทศจีนอนุมัติโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 218 กิกะวัตต์(GW) ในจำนวนนี้ รวมถึงการอนุมัติโรงไฟฟ้าถ่านหินในปีที่แล้ว ซึ่งมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 114 กิกะวัตต์ เพิ่มร้อยละ 10 จากปี 2565 นอกจากนั้น ประเทศจีนได้เริ่มต้นการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ขนาด 70 กิกะวัตต์ในปีที่แล้ว เพิ่มจากโรงไฟฟ้าขนาด 54 กิกะวัตต์ในปี 2565
ทั้งสถาบันวิจัย GEM และ CREA เตือนประเทศจีนว่า การอนุมัติโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนมากจะทำให้ประเทศจีนมีปัญหาล่าช้าในการปรับเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลที่ก่อมลพิษทางอากาศไปสู่การพลังงานสะอาดในอนาคต แนะนำว่าทั่วโลกจำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของโลกภายในปี 2568
นอกจากนี้ ทั้งสององค์กร เสนอแนะให้ประเทศจีนส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดเข้าไปในสัดส่วนพลังงานทั้งหมดของจีนขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 20 ภายในปี 2568
#ภาวะโลกร้อน