นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล นำเสนอแผนการหลังสงครามในฉนวนกาซา ต่อคณะรัฐมนตรีความมั่นคง ยืนยันการที่อิสราเอลจะเข้าทำหน้าที่รักษาความมั่นคงและการควบคุมทางทหารเหนือดินแดนทางตะวันตกของจอร์แดนทั้งหมด รวมถึงเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาที่ถูกยึดครอง รวมถึงการไม่ยอมรับเอกราชของปาเลสไตน์
นายจอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ ยืนยันเรื่องการสนับสนุนอิสราเอล แต่ชาวปาเลสไตน์ควรมีสิทธิทางการเมือง และอำนาจการปกครอง ทั้งไม่เชื่อในการลดพื้นที่ของฉนวนกาซา ไม่ต้องการเห็นการบังคับอพยพชาวปาเลสไตน์ออกนอกฉนวนกาซา และแน่นอนว่า ไม่อยากเห็นฉนวนกาซาถูกครอบงำหรือปกครองโดยกลุ่มฮามาส ย้ำว่าฉนวนกาซาจะถูกปกครองโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นผ่านกระบวนการเลือกตั้ง
ด้านนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยกับการยึดครองฉนวนกาซา รวมถึงการลดขนาดพื้นที่ลง ทั้งเห็นว่า การตั้งถิ่นฐานใหม่ของชาวอิสราเอลใหม่ในดินแดนปาเลสไตน์ไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ
สงครามในฉนวนกาซาทำให้มีการกล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาสองรัฐที่อิสราเอลและปาเลสไตน์มีความเท่าเทียมกัน เพื่อแก้ไขความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่ายแต่นักการเมืองอาวุโสของอิสราเอลจำนวนมากไม่เห็นด้วย
นาย นาบิล อาบู รูเดเนห์ โฆษกของประธานาธิบดี มาห์มุด อับบาส แห่งปาเลสไตน์ กล่าวว่า หากโลกต้องการให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคนี้ โลกจะต้องยุติการยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ของอิสราเอล และยอมรับปาเลสไตน์ที่เป็นอิสระโดยมีเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวง
การนำเสนอแผนของนายเนทันยาฮูครั้งนี้ถือเป็นการเสนออย่างเป็นทางการครั้งแรก เกี่ยวกับสถานการณ์หลังสงครามในฉนวนกาซา ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม (2566) อิสราเอลสังหารชาวปาเลสไตน์ไปแล้วมากกว่า 29,000 คน
นายอาบู รูเดเนห์ ปฏิเสธความพยายามใดๆ ที่จะแยกการปกครองในฉนวนกาซาออกจากเวสต์แบงก์ เนื่องจากฉนวนกาซาคือส่วนหนึ่งของปาเลสไตน์ อิสราเอลจะไม่ประสบความสำเร็จในความพยายามเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์และประชากรในฉนวนกาซา แผนการณ์ของนายเนทันยาฮูคือการยึดครองดินแดนและขัดขวางการสถาปนาปาเลสไตน์
เอกสารของนายเนทันยาฮู ยังเน้นย้ำว่าสงครามจะดำเนินต่อไปจนกว่าอิสราเอลจะบรรลุเป้าหมายที่ประกาศไว้ทั้งหมด ได้แก่ การรื้อถอนความสามารถทางทหารและโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินการโดยกลุ่มฮามาสและกลุ่มหัวรุนแรง การพาตัวประกันที่ถูกลักพาตัวไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม (2566) กลับมาทั้งหมด กำจัดภัยคุกคามด้านความปลอดภัยทั้งหมดที่มีต้นกำเนิดจากฉนวนกาซา จากนั้น พื้นที่ปิดล้อมแห่งนี้จะปกครองโดย “เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น” ที่ไม่เชื่อมโยงกับประเทศหรือหน่วยงานที่สนับสนุนการก่อการร้าย กองทัพอิสราเอลสามารถมีปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ใดก็ได้ในฉนวนกาซาเพื่อไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายกลับมารวมกลุ่มอีกครั้ง ส่วนการบรรลุข้อตกลงกับปาเลสไตน์ต้องมาจากการเจรจาโดยตรงระหว่างทั้งสองฝ่ายเท่านั้น แต่ไม่มีการระบุชัดเจนว่า เขาหมายถึง “ฝ่ายใด” ของปาเลสไตน์
นักวิเคราะห์การเมืองของอัลจาซีเราะห์ แสดงความคิดเห็นว่า กลุ่มบุคคลที่นายเนทันยาฮูอ้างถึงนี้เป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับที่มา และไม่ใช่องค์การปาเลสไตน์ หรือ พีเอ (Palestinian Authority : PA) ในปัจจุบัน ขณะที่ไม่มีการกำหนดกรอบเวลาของการทำสงครามและการคงทหารไว้ในฉนวนกาซา บ่งชี้ว่ากองทัพอิสราเอลจะเข้าแทรกแซงฉนวนกาซาอย่างไม่มีกำหนด
นอกจากนี้นายเนทันยาฮูยังเสนอให้มีความร่วมมือระหว่างอิสราเอล อียิปต์และสหรัฐฯ ในเมืองราฟาห์พื้นที่ทางใต้ของฉนวนกาซาเพื่อป้องกันความพยายามลักลอบขนของเข้ามาในฉนวนกาซา และการลักลอบเดินทางข้ามแดน
สุดท้ายคือแผนการปิดสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (United Nations Relief and Works Agency for Palestine Refugees in the Near East : UNRWA) ซึ่งอิสราเอลคัดค้านการจัดตั้งหน่วยงานนี้มาตั้งแต่แรกเริ่ม จนถึงล่าสุดคือการกล่าวหาว่า มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มฮามาส
นางมาทารา อัลริไฟ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และการสื่อสารภายนอกของหน่วยงาน กล่าวว่า ความพยายามที่จะกำจัดหน่วยงานควรถูกมองควบคู่ไปกับความพยายามที่จะขจัดโอกาสในอนาคตของปาเลสไตน์
…
#แผนการหลังสงคราม #ฉนวนกาซา #อิสราเอล #สหรัฐอเมริกา #ปาเลสไตน์