หลังพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ยอมรับว่ามีรายชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่ในรายชื่อของผู้ที่จะได้รับการพักโทษในรอบถัดไป นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ยอมรับว่า การที่จะปล่อยตัวพักโทษในวันใดนั้น ตามหลักการคำว่าครึ่งปี หรือ 6 เดือน ให้เอา 30 วันไปคูณ ก็ให้นับได้ว่าครบวันไหน และวันถัดไปของวันครบการรับโทษ ก็คือวันปล่อยสำหรับพักโทษ
สำหรับ แนวทางปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์นั้นจะต้องประสานกับหลายหน่วยงาน หากเรือนจำแห่งใดได้ประสานกับกรมคุมประพฤติไว้เรียบร้อยแล้ว ก็สามารถปล่อยตัวในวันเสาร์-อาทิตย์ได้ แต่หากบางแห่งกรมคุมประพฤติยังไม่พร้อม ก็อาจต้องเลื่อนไปปล่อยตัวในวันปกติแทน
ส่วนขั้นตอนการรายงานตัวของผู้ได้รับการพักโทษนั้น กรมคุมประพฤติจะเป็นผู้กำหนดแนวทางการปฏิบัติและเงื่อนไข รวมถึงข้อห้ามเพื่อแจ้งแก่ผู้ที่ได้รับการพักโทษให้ปฏิบัติตาม สำหรับผู้ได้รับการพักโทษที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ยืนยันว่า ไม่ต้องใส่กำไล EM ซึ่งเรื่องนี้เป็นมติของคณะกรรมการที่มีมานานแล้วว่า ผู้ต้องขังสูงอายุ 70 ปีขึ้นไป เจ็บป่วย หรือพิการ จะไม่ต้องใส่กำไล EM เพราะถือว่าอยู่ในเงื่อนไข และต้องมีการเก็บข้อมูลมาประเมินร่วมด้วยว่าคนกลุ่มนี้ไม่เคยกระทำผิดซ้ำ ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนตามกฎหมาย
การพักโทษนั้น ไม่ต้องแจ้งการปล่อยตัวต่อศาล เนื่องจากเป็นการพักโทษ ไม่ใช่หมายปล่อยตัว และนักโทษยังอยู่ระหว่างคำพิพากษาของศาล และกรมราชทัณฑ์ก็ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลอยู่ แต่การพักโทษนั้น ก็คือการที่ผู้ต้องขังซึ่งเคยอยู่ในเรือนจำ ก็สามารถออกไปอยู่ที่บ้านหรือในสังคมได้ ส่วนเรื่องการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรืออัยการจะพิจารณาอายัดตัวนายทักษิณ ในความผิดตามมาตรา 112 หลังได้รับการพักโทษนั้น เป็นอำนาจของอัยการ
ด้านพ.ต.อ.หญิงศิริกุล ศรีสง่า โฆษก รพ.ตร. กล่าวถึงขั้นตอนการปล่อยตัว นายทักษิณ ว่า ตามปกติการปล่อยตัวผู้คุมขังที่ถูกส่งมารักษาจะขึ้นอยู่กับทางกรมราชทัณฑ์ หากราชทัณฑ์แจ้งว่าจะขอรับตัวออก ทางโรงพยาบาลมีหน้าที่ออกใบรับรองแพทย์ให้ พร้อมแนบความเห็นแพทย์ถึงอาการของผู้ป่วยว่าควรรักษาตัวต่อหรือไม่ ถือว่าหมดหน้าที่ของโรงพยาบาลตำรวจแล้ว ซึ่งกรณี นายทักษิณ ญาติไม่สามารถมารับตัวได้ แม้มีคำสั่งพักโทษแล้วก็ตาม ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มารับไปเท่านั้น ส่วนรับออกไปแล้วจะส่งมอบให้ญาติ หรือมีขั้นตอนต่อไปอย่างไร เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์
ส่วนระยะเวลาการขอรับตัวที่ผ่านมา ไม่มีหลักเกณฑ์ว่าต้องแจ้งโรงพยาบาลก่อนกี่วัน เพราะผู้ต้องขังที่ถูกส่งตัวมารักษา จะมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เฝ้าตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว ทางกรมราชทัณฑ์จะประสานกับเจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่สามารถแจ้งกับทางโรงพยาบาลได้ตลอดเวลา นั่นหมายถึงเที่ยงคืน 1 นาทีของวันที่มีการพักโทษ ก็สามารถแจ้งขอออกจากโรงพยาบาลได้ หากราชทัณฑ์มีความประสงค์จะเอาตัวออกจากโรงพยาบาล
#ปล่อยตัวนักโทษ
#โกงบ้านโกงเมือง