สธ. เตือนปิดหงอกทุกเดือน เสี่ยงแพ้! ระคายเคือง บวมคัน มีน้ำเหลืองซึม

13 กุมภาพันธ์ 2567, 12:05น.


          สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เตือนปิดหงอกทุกเดือน เสี่ยงแพ้! จากการย้อมสีผมบ่อย ผื่นบวมคัน มีน้ำเหลืองซึม หน้าบวม ตาบวม ต่อมน้ำเหลืองบริเวณศีรษะและคอบวมโต แนะยืดเวลาการทำสีแต่ละครั้ง ลดการสัมผัสกับสารที่ก่ออันตรายต่อร่างกาย



          สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ปิดผมขาว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพงมากนัก เกี่ยวกับย้อมผมเคมี หรือ Permanent hair dye โดยนพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สีผมธรรมชาติโดยเฉพาะคนไทยและคนเอเชียทั่วไป จะมีสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงเกือบดำ สีดำในเส้นผมธรรมชาติมาจากเม็ดสีเมลานินที่สร้างจากเซลล์เมลาโนไซต์ในรากผม ซึ่งผมจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาวเนื่องจากการทำงานของเมลาโนไซต์ที่ลดลง และมีจำนวนน้อยลงตามอายุที่มากขึ้นและกรรมพันธุ์ สำหรับผู้ที่ต้องการปิดผมขาวอาจต้องใช้ผลิตภัณฑ์ปิดผมขาว



          การย้อมสีผมบ่อย ๆ ทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังบริเวณศีรษะ และก่อให้เกิดอาการแพ้ โดยอาการแพ้นั้นอาจเป็นผื่นเล็กน้อยบริเวณที่สัมผัส หรืออาจมีการแพ้ในระดับรุนแรง ผิวหนังมีอาการผื่นบวมคัน มีน้ำเหลืองซึม หน้าบวม ตาบวม ต่อมน้ำเหลืองบริเวณศีรษะและคอบวมโต โดยอาจมีไข้ร่วมด้วยได้ในบางราย



         ด้าน พญ.นันท์นภัส โปวอนุสรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า Permanent hair dye มีส่วนประกอบหลักๆ ดังนี้



          1.Developer คือสารที่ใช้ล้างสีผมเดิม ส่วนประกอบหลักคือ hydrogen peroxide ทำหน้าที่กัดสีผมเดิมออก เพื่อให้ได้สีผมใหม่ที่มีความสดและสม่ำเสมอ hydrogen peroxide นี้นอกจากทำให้เส้นผมแห้งเสียและยังระคายเคืองหนังศีรษะด้วยความที่เป็นด่างสูง



          2.Alkaline agent คือสารที่ทำลายโปรตีนเส้นผม ทำให้เกล็ดผมเปิดออกเพื่อให้สีย้อมเข้าไปถึงแกนของเส้นผมได้ง่าย ส่วนประกอบหลักคือแอมโมเนีย เมื่อเส้นผมต้องสัมผัสกับแอมโมเนียบ่อยๆ จะทำให้ผมขาดร่วงง่าย



          3.Color คือสารย้อมหลักๆ ที่ใช้กันโดยทั่วไปคือ PPD (para-phenylenediamine) และ PTDS (para-toluenediamine sulfate) ซึ่งเป็นสารย้อมทางเลือกสำหรับใครที่แพ้ PPD แต่สามารถแพ้ข้ามชนิดกันได้ สีย้อมที่ยิ่งเข้มดำยิ่งมีสารย้อมที่เข้มข้นกว่าสีอ่อน     



          4.ส่วนประกอบอื่น ๆ ซึ่งแล้วแต่แบรนด์ต่าง ๆ จะเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อจุดประสงค์การขาย เช่น สารสกัดจากธรรมชาติต่าง ๆ น้ำหอม และสารกันเสีย



          นอกจากนี้ ยังมีรายงานผู้ป่วยที่มีการสัมผัสกับสารย้อมต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง มีค่าเอนไซม์ตับที่เพิ่มขึ้น และมีผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมจากการสัมผัสสารย้อมเช่นกัน ดังนั้นหากเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำสีผม ควรยืดระยะเวลาระหว่างการทำสีแต่ละครั้งให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดการสัมผัสกับสารที่ก่ออันตรายต่อร่างกายให้น้อยที่สุด



 



ที่มา: https://www.hfocus.org/content/2024/02/29748



 



#ปิดหงอก



#สถาบันโรคผิวหนัง



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X