ซีเอ็นเอ็น รายงานอ้าง สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน(NBS)ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) มาตรวัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนต่างๆซื้อไปบริโภคหรือใช้สอย ลดลงร้อยละ 0.8 ในเดือนมกราคม เทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นการลดลง 4 เดือนติดต่อกัน บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจจีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืด อีกทั้งเป็นการร่วงหนักที่สุดนับแต่วิกฤตการเงินทั่วโลกในเดือนกันยายน 2552
การบริโภคของภาคครัวเรือนของจีนอ่อนแอในเดือนมกราคม ส่งผลให้ดัชนี CPI ลดลง โดยเฉพาะราคาอาหาร เป็นปัจจัยสำคัญอีกตัวหนึ่งที่ฉุดให้ดัชนี CPI ร่วงลงในเดือนมกราคม ขณะที่ราคาเนื้อหมู หนึ่งในเมนูโปรดสำหรับชาวจีน ร่วงร้อยละ 17.3 ในเดือนมกราคม เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการร่วงหนักสุดในหมวดสินค้ากลุ่มอาหาร ขณะเดียวกัน ราคาผักร่วงเกือบร้อยละ 12
แต่ NBS และนักเศรษฐศาสตร์หลายคน รวมทั้งนายลินน์ ซอง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สาขาจีนของบริษัทไอเอ็นจี อีโคนอมิกส์ (ING Economics)และนักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้(HSBC) ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ดัชนี CPI ทรุดลงหนักในเดือนมกราคม ส่วนหนึ่งเพราะใช้ตัวเลขที่มีการบริโภคของครัวเรือนเพิ่มสูงในปีที่แล้ว มาเป็นฐานในการเปรียบเทียบ อีกทั้งช่วงนั้น ราคา CPI สูงขึ้นมากเนื่องจากความต้องการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน ระหว่างวันที่ 21-27 มกราคมปีที่แล้ว ส่งผลให้ดัชนี CPI ในเดือนมกราคมปีก่อน เพิ่มร้อยละ 2.1
แต่ปีนี้เทศกาลตรุษจีนตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้นการใช้ตัวเลข CPI ของเดือนมกราคมปีที่แล้วเทียบกับตัวเลข CPI ของเดือนมกราคมปีนี้ อาจจะไม่สะท้อนสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจจีน และนักเศรษฐศาสตร์หลายคน คาดว่า การบริโภคของครัวเรือนและดัชนี CPI ของจีนจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป
#เศรษฐกิจจีน