ทีม MCATT เร่งดูแลจิตใจนักเรียน-ครู 48 คนมีภาวะเครียด เหตุนร.ถูกทำร้าย

30 มกราคม 2567, 12:00น.


           กรณีเด็กนักเรียนม.2 ถูกทำร้ายร่างกายจากเพื่อนนักเรียนด้วยกัน โรงเรียนย่านพัฒนาการ จนอาการสาหัสและเสียชีวิต นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรมสุขภาพจิต โดยทีม MCATT สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ สถาบันราชานุกูล ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 และ สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 37 ลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือเยียวยาจิตใจนักเรียนและครู รวม 67 คน แบ่งเป็นนักเรียน 55 คน และครู 12 คน พบว่า นักเรียน จำนวน 36 คน และครูจำนวน 12 คน รวม 48 คน มีภาวะความเครียด ด้วยการปรึกษารายบุคคล วางแผนเยียวยาจิตใจร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนในระยะยาว ซึ่งจะมีการส่งเจ้าหน้าที่จากสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เข้าร่วมปฏิบัติงานเพิ่มเติม เป้าหมาย คือ ดูแลสุขภาพจิตผู้ได้รับผลกระทบอย่างครอบคลุม            นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึง กรณีสังคมมองว่า หากผู้กระทำเป็นเด็กพิเศษ ไม่ควรให้เรียนร่วมกับเด็กทั่วไปว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สิ่งสำคัญไม่ควรมองว่าเป็นเด็กพิเศษหรือไม่อย่างไร เพราะปัจจัยที่ก่อเหตุมีหลายอย่าง อีกทั้ง ยังเกี่ยวเนื่องกับสิทธิมนุษยชน ดังนั้น การนำเสนอต้องระวัง และกรณีนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่า เป็นเด็กพิเศษ เพราะต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน เคสคดีเด็กและเยาวชน จะมีกระบวนการต่างๆตามขั้นตอนของกฎหมายของศาลเยาวชนและครอบครัว ที่สำคัญต้องมีสหวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ร่วมด้วย  



           อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สาเหตุของความก้าวร้าว มักไม่ได้มาจากปัจจัยเดียว เกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่ปัจจัยส่วนตัวที่มีปัญหาการจัดการอารมณ์ การจัดการความโกรธ ความใจร้อนหุนหันพลันแล่น หรือเป็นโรคที่ยับยั้งชั่งใจ คุมตัวเองยาก ปัจจัยจากครอบครัวที่มีความก้าวร้าวทางร่างกาย วาจา อารมณ์ ทำให้เรียนรู้ว่าสามารถแก้ไขความไม่พอใจด้วยความก้าวร้าวได้ หรือ บางครั้งดูแลตามใจจนเด็กไม่ได้ฝึกควบคุมตนเอง เมื่อไม่พอใจก็แสดงความก้าวร้าวใส่ผู้อื่น ปัจจัยทางโรงเรียน สังคมที่อยู่รอบตัว การกลั่นแกล้งรังแก การอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่นิยมความรุนแรง การใช้สารเสพติด ก็เป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ใช้ความรุนแรงในชีวิตประจำวัน และปัจจุบัน มีปัจจัยด้านสื่อออนไลน์ ที่สามารถสร้างอารมณ์การเกิดความรุนแรงได้ง่าย ดังนั้น การแก้ไขและป้องกันปัญหาความรุนแรง จึงต้องแก้ไขทุกปัจจัยไปพร้อมกัน ได้แก่ การให้เด็กรู้อารมณ์และจัดการอารมณ์ มีข้อแนะนำ 3 ข้อ ดังนี้



1.ผู้ใหญ่ควรควบคุมให้เด็กหยุดความก้าวร้าวด้วยความสงบ เช่น ใช้การกอดหรือจับให้เด็กหยุด หลังจากที่เด็กอารมณ์สงบแล้ว ควรพูดคุยถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่พอใจจนแสดงความก้าวร้าว เพื่อให้เด็กได้ระบายออกเป็นคำพูด



2. ควรเริ่มฝึกฝนเด็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบให้รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองเช่นฝึกให้แยกตัวเมื่อรู้สึกโกรธ



3. ฝึกให้เด็กรู้จักเห็นอกเห็นใจ มีจิตใจโอบอ้อมอารีแก่ คน สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ



           การดูแลอย่างเหมาะสมของครอบครัวสามารถทำได้ 3 วิธีคือ



1.ต้องไม่ใช้ความรุนแรงเข้าไปเสริม การลงโทษอย่างรุนแรงในเด็กที่ก้าวร้าวไม่ช่วยให้ความก้าวร้าวดีขึ้น เด็กอาจหยุดพฤติกรรมชั่วครู่ แต่สุดท้ายก็จะกลับมาแสดงพฤติกรรมนั้นอีก อาจเรื้อรังไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ได้



2.ไม่ควรมีข้อต่อรองกันขณะเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว



3.หลีกเลี่ยงการตำหนิว่ากล่าวเปรียบเทียบ เพราะจะทำให้เด็กมีปมด้อย รวมทั้งการข่มขู่หลอกให้กลัว หรือยั่วยุให้เด็กมีอารมณ์โกรธ เนื่องจาก เด็กจะซึมซับพฤติกรรมและนำไปใช้กับคนอื่นต่อ ปัจจุบันมีการพัฒนาร่วมกันระหว่างโรงเรียนและกระทรวงสาธารณสุขในการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเพื่อดูแลและส่งต่อ และท้ายที่สุดสิ่งที่มีผลต่อเด็ก คือ สังคมออนไลน์ที่ไม่ควรเป็นตัวอย่างของความก้าวร้าว



 



#เยียวยาจิตใจ



#นักเรียนถูกทำร้าย



CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ Hfocus

ข่าวทั้งหมด

X