เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัวร้อยละ 3 ดีขึ้นจากไตรมาสแรก

18 พฤษภาคม 2558, 11:11น.


ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2558 และแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจในปี 2558 จากการประเมินของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์  



นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการฯสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ประจำปี 2558 พบว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ จีดีพี ขยายตัวร้อยละ 3 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 เนื่องจากการขยายตัวของการบริโภคของภาคเอกชน การลงทุนจากภาครัฐที่ขยายตัวกว่าร้อยละ 37.8 และการเบิกจ่ายงบประมาณโดยรวมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 รวมเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณที่ร้อยละ 21.7  แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ต้องการเบิกจ่ายให้ได้ร้อยละ 23  นอกจากนี้แล้วยังได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 23.5 และการผลิตภาคอุตสาหกรรมรวมทั้งการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ขยายตัว



ส่วนปัญหาที่พบในไตรมาสแรกคือ การส่งออกยังลดลงกว่าร้อยละ 4.3 มีมูลค่าส่งออกรวม 53,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยเฉพาะการส่งออกข้าว ยาวพารา มันสำปะหลังที่ส่งออกได้น้อยลง เพราะตลาดโลกยังมีปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะคู่ค้าที่สำคัญของไทย นอกจากนี้ การที่ค่าเงินบาทแข็งค่ายังทำให้การส่งออกมีมูลค่าลดลง เช่นเดียวกับการนำเข้าที่ลดลงกว่าร้อยละ 7.2 และมีมูลค่ารวม 45,572 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ แต่โดยรวมเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราว่างงานอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 0.9 ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ -0.5



ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2558 นั้น นายอาคม คาดการณ์ว่า ทั้งปี 2558 จีดีพีจะโตขึ้นประมาณร้อยละ 3.0-4.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนต่างๆหลายประการ เช่น การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ แต่ต้องระวังปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะ จีน และญี่ปุ่น ทั้งต้องระวังค่าเงินยูโรและเงินเยนอ่อนค่าลง และความตกต่ำของสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่จะเป็นข้อจำกัดในการส่งออกและส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมจะขยายได้ต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ การส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 0.2 ส่วนการบริโภคของภาคครัวเรือนและการลงทุนรวมจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.3 และ 6.2 ตามลำดับ



นอกจากนี้ ยังเสนอความเห็นด้วยว่า แนวทางการบริหารนโยบายเศรษฐกิจควรให้ความสำคัญกับประเด็นหลักๆ 4ด้านคือ การเร่งรัดแก้ไขปัญหาการส่งออกทั้งในระยะยาวและระยะสั้น โดยระยะสั้นควรให้ความสำคัญกับค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่า และการแสวงหาตลาดและเพิ่มปริมาณสินค้า นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการเกษตร และการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะซบเซาของการส่งออก รวมทั้งรัฐบาลต้องเร่งรัดเบิกจ่ายงยประมาณและการดำเนินการตามโครงการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐ



นายอาคม ระบุด้วยว่า ผลจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือกนง.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสองครั้งรวมลดร้อยละ 0.5 น่าจะส่งผลให้นโยบายการเงินดีขึ้นและน่าจะส่งผลต่อการเร่งขยายตัวการส่งออกในไตรมาสที่เหลือ อย่างไรก็ดีนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หานวัตกรรมใหม่ๆและเพิ่มงบวิจัยลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันอีกทาง 



...ผสข.ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร 

ข่าวทั้งหมด

X