วันนี้ (1):นายกฯยืนยันไทยจัดการปัญหาผู้อพยพตามกรอบกฎหมาย/สปช.สรุปคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรธน.

18 พฤษภาคม 2558, 07:47น.


ท่าทีของไทยในปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญา ซึ่งเมื่อวานนี้ นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ โทรศัพท์ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เพื่อสอบถาม และแสดงความห่วงใย โดยแสดงความเห็นว่า บุคคลเหล่านี้ควรจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) และมีสิทธิขั้นพื้นฐาน (Human Basic Rights) ในการใช้ดำรงชีวิต ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์เช่นกัน และสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าตรวจ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึบการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจ เพื่อดูแลบริเวณน่านน้ำไทย



นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การทำงานเป็นไปตามขั้นตอน โดยมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เป็นลำดับแรก จากนั้นจะสอบถามความสมัครใจของผู้อพยพทางเรือ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานหลักมนุษยธรรม หลักกฎหมายสากล กฎหมายทางทะเล และกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังย้ำว่า ทุกประเทศต่างก็มีกฎหมายของตน ดังนั้น การดำเนินการใดๆ จะต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ด้วย นอกจากนี้ยังขอให้เลขาธิการสหประชาชาติ ในการทำความเข้าใจและความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาตามหลักมนุษยธรรมบนพื้นฐานของกฎหมาย ซึ่งเลขาธิการสหประชาติ กล่าวพร้อมสนับสนุนแนวความคิดนี้ และพร้อมร่วมมือเพื่อให้การประชุมของ 15 ประเทศ ประสบผลสำเร็จ รวมทั้งขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทย และอาเซียนด้วย



พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการเคลื่อนย้ายแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย โดยมาทางเรือจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหวังจะเดินทางไปประเทศที่สาม ซึ่งในจำนวนนี้ บางส่วนเดินทางมาโดยสมัครใจ และบางส่วนตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งไม่ว่าจะมาด้วยสาเหตุใด ล้วนถือเป็นผู้ลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมายของประเทศไทย จึงจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศต้นทาง



จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 พบผู้ลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย 312 คน เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ 63 คน



ด้าน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมว.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (บ.ทบ.) ปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการที่จะให้ไทยตั้งศูนย์พักพิงให้แก่ชาวโรฮิงญา อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานความมั่นคงหาพื้นที่ที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่ในลักษณะของศูนย์พักพิงบริเวณแนวชายแดนที่รับผู้หลบหนีการสู้รบ ที่เป็นพื้นที่ที่ทางตำรวจควบคุม



เช่นเดียวกับนายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่นายจอห์น เคอร์รี รัฐมนตรีการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา โทรศัพท์หารือกับพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งฝ่ายไทยยืนยันแล้วว่าไทยปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรมมาโดยตลอด ส่วนข้อเรียกร้องให้ตั้งศูนย์พักพิงนั้น ขอยืนยันว่า เป็นศูนย์ชั่วคราว เพราะจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย ไม่เช่นนั้นจะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดแก่ผู้ที่ไม่ได้ประสบภัยอย่างแท้จริง ซึ่งอาจฉวยโอกาสเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย



พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และโฆษก ตร. กล่าวถึงความคืบหน้าการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ว่า ล่าสุดพนักงานสอบสวนได้ขอศาลอนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องในคดีนี้เพิ่มเติมอีก 1 คน คือ นายดาเหร็ด หมานสะโต๊ะ รวมมีผู้ถูกออกหมายจับ 63 คน สามารถจับกุมตัวได้ 28 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นการเข้ามามอบตัว 17 คน กับยังมีผู้ต้องหาตามหมายจับที่ติดต่อขอเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมอีก



นอกจากนี้ที่จังหวัดชุมพร พ.ต.อ.วิมล พิทักษ์บูรพา รอง ผบก.ภ.จว.ชุมพร เปิดเผยว่า ขณะนี้ตำรวจชุดสืบสวน สภ.เมืองชุมพร จับกุมขบวนการนายหน้าที่นำพาแล้วก่อเหตุชิงทรัพย์และข่มขืนชาวต่างด้าวในพื้นที่บ้านในง่วม หมู่ 8 ต.บ้านนา อ.เมือง จ.ชุมพร ได้แล้ว 1 คน คือ นายประเสริฐ สังคม อายุ 52 ปี ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.หินแก้ว อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ตามหมายจับศาลจังหวัดชุมพรพร้อมคัดค้านการประกันตัว ส่วนผู้ต้องหาตามหมายจับอีก 3 คน ก่อเหตุในพื้นที่ สภ.ท่าแซะ 2 คน และ สภ.เมืองชุมพร 1 คนยังหลบหนี



ภารกิจของนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อติดตามความคืบหน้าในการทวงคืนที่ดินและการจัดสรรที่ดินให้กับประชาชน



เมื่อวานนี้ ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ได้จัดพิธีรำลึกและสืบสาน 23 ปี พฤษภาประชาธรรม โดยมีตัวแทนจากหลายฝ่ายร่วมวางพวงมาลา พร้อมกล่าวรำลึก อาทิ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนรัฐบาล นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ตัวแทน สนช. พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตัวแทนประธานสปช. นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พระอุทัย อุทาโย หรือนายอุทัย ยอดมณี อดีตแกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)



จากนั้นนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถาหัวข้อ อนาคตการปรองดองและสมานฉันท์สังคมไทย โดยระบุว่า วิกฤตที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าสังคมเกิดความไม่ไว้วางใจในการนิรโทษกรรม และยังไม่ไว้วางใจ ส่วนพรรคใหญ่ 2 พรรคก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนเดิม จึงให้มีคณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ (คปช.) เพื่อแก้ไขความขัดแย้ง  



ส่วนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิก สปช. กล่าวว่าในวันนี้ จะสรุปคำขอแก้ไข เพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญไปยังกมธ.ยกร่างฯ ในประเด็นเรื่องสื่อสารมวลชน เรื่องการคอร์รัปชั่น เรื่องพลเมือง และเรื่องศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น โดยกรณีที่นายบวรศักดิ์ กล่าวถึงอุปสรรคในการสร้างความปรองดองได้สำเร็จ เพราะ 2 พรรคใหญ่ยังแสดงจุดยืนเดิม นั้นเห็นว่า เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของนายบวรศักดิ์ เพราะท่าทีของผู้ขัดแย้งยังเหมือนเดิมและนายบวรศักดิ์คงต้องการบอกกับสังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องให้รับรู้ เพื่อนำไปพิจารณาว่าควรทำอย่างไร เพราะถ้าอยากจะปรองดองก็ต้องนำไปคิด ไม่ใช่ยังแค้นฝังหุ่นอยู่แบบนี้



...

ข่าวทั้งหมด

X