โครงการส่งน้ำฯ เขื่อนนเรศวรจัดส่งน้ำให้เกษตรกรเร็วกว่ากำหนด

17 พฤษภาคม 2558, 13:10น.


นายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทานพร้อมคณะ ร่วมรับฟังบรรยายสรุปโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวร จ.พิษณุโลก ซึ่งนายเลิศวิโรจน์ ระบุว่า เขตการรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 3 อยู่ในพื้นที่ของแม่น้ำน่าน และมีขอบข่ายการรับผิดชอบเขื่อนหลักๆหลายเขื่อน จึงต้องจัดระบบชลประทานที่ดี อย่างไรก็ตาม ในปีนี้กรมชลประทานขอความร่วมมืองดทำนาปรัง ซึ่งโดยทั่วไปพบว่าเกษตรกรให้ความร่วมมือด้วยดี



ด้านนายประพนธ์ คำไทย ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวร จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ในส่วนของโครงการส่งน้ำฯเขื่อนนเรศวรมีพื้นที่ชลประทานทั้งสิ้น 95,000ไร่ ในจำนวนนี้มีพื้นที่ลุ่มต่ำที่ถูกน้ำหลากท่วมทุกปีอยู่กว่า 60,000 ไร่ ทางโครงการฯ จึงจะส่งน้ำจากโครงการฯ เร็วขึ้นกว่าเดิมโดยในปีนี้เป็นปีแรกที่เริ่มส่งน้ำให้เกษตรกรตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน เพื่อให้สามารถเริ่มฤดูนาปี และคาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ราวเดือนสิงหาคม ส่วนในช่วงฤดูน้ำหลากนั้นพื้นที่ลุ่มต่ำทั้งหมดของโครงการฯ จะถูกใช้เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ ที่คาดว่าปีนี้จะสามารถกักเก็บน้ำได้กว่า10 ล้านลูกบาศก์เมตร  นอกจากนี้แล้วยังมีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้กว่า 8 เมกกะวัตต์



ด้าน นายปีติพงศ์ ระบุว่า รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในการช่วยเหลือเกษตรกร และได้สั่งให้ทุกฝ่ายประสานการทำงานร่วมกันและดำเนินการตามแผน โดยได้ชี้แจงกับนายกรัฐมนตรีว่า สามารถพัฒนาพื้นที่เขตชลประทานได้มากที่สุดคือร้อยละ 40 ของเนื้อที่ทั้งหมด เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ กับจะพยายามหามาตรการช่วยเหลือพื้นที่นอกเขตชลประทานเพิ่มเติม เช่น การสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก จากนั้นนาย ปีติพงศ์ได้สอบถามว่า จะมีมาตรการใดช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ในช่วงฤดูน้ำหลากเพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพและนอกจากทำนาแล้วยังมีการเพาะปลูกพืชใดอีกบ้าง ซึ่งทาง ม.ล. อนุมาศ ทองแถม ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 ก็ระบุว่า ในฤดูน้ำหลากเกษตรกรส่วนมากจะหันมาทำประมงแทน  และเมื่อสิ้นสุดฤดูน้ำหลากมักพบน้ำค้างทุ่งซี่งจะเก็บน้ำไว้รอน้ำเสริมจากกรมชลประทานเพื่อรอทำนาปรังต่อไปหากมีน้ำเพียงพอ พร้อมระบุด้วยว่านอกจากการทำนาแล้ว ในพื้นที่นี้ยังมีการปลูกพืชตระกูลถั่ว ซึ่งก็ให้ราคาดีใกล้เคียงกับข้าว คือประมาณ 1000-1500 บาทต่อไร่ แต่ยังพบว่าเกษตรกรส่วนมากเลือกที่จะปลูกข้าวมากกว่า นอกจากนี้แล้วกรมชลประทานยังมีมาตรการให้เกษตรกรทำนาเปียกสลับแห้ง เพื่อลดต้นทุนน้ำด้วย



อย่างไรก็ดีนาย ปีติพงศ์ ได้กล่าวว่าควรมีการบริหารจัดการที่ดีกว่านี้และนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาสร้างให้มีคุณภาพก่อนที่จะกล่าวขอบคุณการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน



 



...ผสข.ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร

ข่าวทั้งหมด

X