สำนักข่าว AFP ให้ความสนใจการดำเนินธุรกิจของเครือข่ายลักลอบค้ามนุษย์ โดยระบุว่า การลักลอบบางเครือข่ายมีจุดเริ่มต้นในภาคตะวันตกของเมียนมาร์ ซึ่งมีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ เครือข่ายลักลอบค้ามนุษย์หลายเครือข่ายได้ปรับวิธีการลักลอบเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเสนอเงินช่วยลักลอบผ่านลงมาทางประเทศไทยในราคาถูก หรือไม่คิดค่าใช้จ่าย หลังเดินทางถึงประเทศไทย นายหน้าจะนำผู้อพยพเข้าไปไว้ในที่พักพิงชั่วคราวกลางป่า เพื่อรอเงินจากญาติหรือเพื่อน รายละประมาณ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มูลนิธิฟรีแลนด์ ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านการลักลอบค้ามนุษย์ ได้ประเมินรายได้ของเครือข่ายการลักลอบต่อเรือ 1 ลำ ซึ่งนำผู้อพยพชาวโรฮิงญา ทั้งที่ถูกหลอก ชักชวน หรือถูกลักพามาประมาณ 400 คน จะเท่ากับมีรายได้ตกเรือลำละ 800,000 ดอลลาร์สหรัฐ นายแม็ทธิว สมิธ ผู้เชี่ยวชาญปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์ กล่าวว่า ไทยเป็นศูนย์กลางการค้ามนุษย์ ซึ่งทำเงินรายได้ให้แก่เครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติจำนวนหลายล้านดอลลาร์ โดยมีชาวเมียนมาร์และมาเลเซียทำหน้าที่เป็นผู้ลักลอบส่วนใหญ่ และมีเจ้านายเป็นคนไทย ซึ่งจะได้ส่วนแบ่งจากผลกำไรการค้ามนุษย์มากที่สุด ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบังกลาเทศเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ บรรดานายหน้ามีอาชีพเป็นชาวประมงหรือชาวเรือ แต่หลังจากธุรกิจการอพยพผิดกฎหมายเฟื่องฟูก็ผันตัวเองไปเป็นผู้ลักลอบค้ามนุษย์ ประกอบกับกลุ่มคนดังกล่าวเห็นช่องโหว่ทางด้านกฎหมาย ฐานะยากจน และมีความละโมบ จึงถูกชักจูงให้เข้าร่วมกระบวนการนี้อย่างง่ายดาย ทั้งนี้ สหประชาชาติเปิดเผยว่า อลในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม ปีนี้ มีผู้อพยพชาวโรฮิงญาโดยสารเรือจากบังกลาเทศเข้าไปในอ่าวเบงกอลแล้วประมาณ 25,000 คน
CR:Channel NewsAsia