กรณีสหภาพยุโรป หรือ EU ได้พิจารณาให้ใบเหลืองประกาศเตือนทางการไทยเกี่ยวกับมาตรการเพื่อป้องกันและขจัดการประมงที่ผิดกฎหมาย (l.U.U Fishing) ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดรสุภางค์ จันทวานิช ผอ.ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ชี้ให้เห็นถึงผลการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมายในไทยว่า สาเหตุสำคัญของปัญหามาจากการที่ประเทศไทยไม่มีมาตรการดำเนินการทางกฎหมายที่เข้มงวดเพียงพอในการจัดการด้านประมงไทยที่มีสภาพซับซ้อน ประกอบกับการเข้าถึงแรงงานเพื่อให้ความคุ้มครองทำได้เฉพาะก่อนเรือออกและเมื่อเรือเข้าฝั่งเท่านั้น ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุภางค์ ได้ให้ข้อเสนอแนะด้านการดำเนินคดีค้ามนุษย์ในแรงงานประมงว่า ประเทศไทยควรดำเนินการคัดแยกแรงงานบังคับทุกคนทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติให้เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ ฉบับใหม่ รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินคดีนำผู้เสียหายที่ผ่านกระบวนการคัดแยกเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พร้อมทั้งดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญากับผู้ใช้หรือแสวงหาประโยชน์จากแรงงาน
ในส่วนของการป้องกันการค้ามนุษย์ในแรงงานประมง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุภางค์ เสนอแนะว่า ควรเร่งดำเนินการให้แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในอุตสาหกรรรมประมงไทยได้มีสถานภาพทางกฎหมายที่ถูกต้องและจะต้องกำหนดเอกสารประจำตัวที่ถูกกฎหมายของแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงไทยให้ชัดเจน เพื่อให้มีผลคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย นอกจากนี้ควรจัดให้มีช่องทางการร้องเรียน ซึ่งแรงงานประมงสามารถเข้าถึงด้วยตัวเองและภาครัฐควรประสานงานกับภาคประชาสังคมหรือองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อให้การช่วยเหลือผู้เสียหายอย่างใกล้ชิดด้วย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุภางค์ กล่าวว่า ประเทศไทยควรตรวจสอบอย่างเข้มงวดไม่ให้มีแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในอาชีพประมงทะเล รวมทั้งเร่งรัดปรับปรุงการตรวจแรงงานประมงควบคู่กับการตรวจเรือประมงในด้านการควบคุมเฝ้าระวังเรือ ปัจจุบันประมงไทยยังขาดระบบติดตามเรือ หรือ VMS ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ได้ครอบคลุม ดังนั้นจึงขอเสนอแนะว่า ควรมีการทำแผนการติดตั้งเครื่อง VMS ในเรือขนาดต่างๆ ให้ครบถ้วน โดยรัฐควรช่วยสนับสนุนและติดตามผลการใช้ VMS ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งเพิ่มจำนวนผู้ตรวจเรือและปรับปรุงระบบการตรวจเข้า - ออก ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและ มีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ
นริศ