*ดิเรก สมาชิกสปช.รวบรวม7ประเด็นร้อน หากกมธ.ยกร่างฯไม่ปรับแก้ อาจไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ*

15 พฤษภาคม 2558, 19:18น.


หลังการสัมมนารับฟังความคิดเห็นประชาชนและพรรคการเมืองเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ปฎิรูปการเมือง สภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสปช.ในฐานะประธานคณะอนุกมธ.พิจารณาจัดทำประเด็นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของคณะกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. เห็นด้วยกับการทำประชามติ แต่ต้องยืดเวลาเลือกตั้งออกไปอีก 4 เดือนด้วย ส่วนการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญคิดว่าคงไม่มีญัตติซ้ำกัน และหากยื่นไปแล้วคณะกมธ.ยกร่างฯยังยืนยันร่างเดิม ในส่วนตัวก็พร้อมที่จะไม่ผ่านร่างเช่นกัน จากการสัมมนาในวันนี้มีประเด็นหลักอยู่ 7 ประเด็น เช่น กลุ่มการเมือง ที่มานายกรัฐมนตรีและวุฒิสภา ประเด็นมาตรา 181 มาตรา182 รวมถึงการทำประชามติ สำหรับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่บัญญัติให้มาจากการสรรหาและเลือกตั้งและยังให้อำนาจถอดถอนส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งได้ ทั้งที่ตัวเองมาจากการสรรหา มองว่าไม่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย ดังนั้นควรปรับส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่หากมีการปรับลดอำนาจส.ว.ลงก็เห็นควรพอให้มีการสรรหาได้ ส่วนที่มาของนายกฯคนนอกพรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะนายกฯควรเชื่อมโยงกับประชาชนเป็นหลัก แต่คณะกมธ.มองว่ามีได้ แต่ต้องกำหนดระยะเวลาดำรงตำแหน่งให้ชัดและระบุให้ชัดว่าเหตุการณ์ใดที่ถือเป็นวิกฤต และจะนำข้อเสนอวันนี้ที่ได้ไปรวมกับการจัดสัมมนาร่วมกับนักวิชาการวันที่ 18 พ.ค.และการประชุมวันที่ 21และ 22 พ.ค.ที่จะมีการพิจารณาถึงองค์กรบางองค์กรที่มีแนวโน้มเป็นองค์กรสืบทอดอำนาจอีกครั้งก่อนนำเสนอคณะกรรมาธิการยกร่างฯวันที่ 25 พ.ค.  



ด้านนายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิกสปช. ในฐานะเลขานุการคณะอนุกมธ.ฯ ระบุว่า พรรคการเมืองส่วนใหญ่เสนอให้ตัดทิ้งกลุ่มการเมือง ควรมีแค่พรรคการเมืองลงเลือกตั้งเท่านั้น เพราะพรรคการเมืองมีนโยบายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากกว่า รวมทั้งเกรงว่ากลุ่มการเมืองอาจเกิดจากการจัดตั้งเองของนายทุนและเกิดการซื้อเสียง ดังนั้นควรตัดกลุ่มการเมืองทิ้ง ส่วนมาตรา 181และมาตรา182 ควรตัดทั้งมาตราเพื่อป้องกันการมีอำนาจมากเกินไปของนายกฯ ขณะที่การจัดการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่เห็นควรให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงคณะเดียว ไม่สนับสนุนให้มีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้งหรือกจต. ส่วนที่มาของส.ส.ก็เห็นว่าควรมีระบบผสมในรูปแบบบัญชีรายชื่อและเลือกตั้งแบบเขตคัดค้านระบบโอเพ่นลิสต์ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ



ธีรวัฒน์ 

ข่าวทั้งหมด

X