การสัมมนารับฟังความคิดเห็นประชาชนและนักการเมืองเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ปฎิรูปการเมือง สภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นเรื่องที่มานายกฯคนนอกว่า หากพิจารณามาตรา 172 มาตรา173 บัญญัติถึงที่มาของนายกฯคนนอกอย่างชัดเจนว่านายกฯคนนอกไม่จำเป็นต้องมีในภาวะวิกฤต โดยภาวะปกติก็สามารถนำบุคคลภายนอกที่ไม่ได้รับเลือกจากประชาชนเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯได้ อีกทั้งยังพบว่านายกฯคนนอกสามารถดำรงตำแหน่งได้เสมือนนายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง โดยสามารถดำรงตำแหน่งได้ติดต่อกันถึงสองวาระ 8 ปี จึงมองว่าควรจำกัดให้นายกฯคนนอกมีได้เฉพาะวิกฤติเท่านั้น แต่ต้องจำกัดวาระนายกฯคนนอกให้ชัดเจนว่าจะอยู่ได้กี่ปีและต้องรีบเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง
นายจุรินทร์ เสนอตัดมาตรา 181 ทิ้ง เนื่องจากบัญญัติให้นายกฯมีอำนาจมากเกินไป ทำให้ดุลยภาพของฝ่ายนิติบัญญัติแห่งชาติและฝ่ายบริหารเสียดุลยภาพลง ส่วนประเด็นที่สำคัญอีกมาตราคือมาตรา182 ที่ให้อำนาจนายกฯเสนอร่างพระราชบัญญัติพิเศษ โดยไม่มีเกณฑ์กำหนดว่าจะเสนอได้ในกรณีใด นายจุรินทร์ มองว่า หากเป็นเช่นนี้อาจทำให้อนาคต นายกฯเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเพื่อเอื้อประโยชน์ ซี่งการใช้อำนาจตามมาตรานี้ส่งผลให้กฎหมายที่นายกฯออกไม่ต้องผ่านการพิจารณาสามวาระจากรัฐสภาและมีผลบังคับใช้ได้ในทันที ทำให้ตัวเองมองว่าประเด็นนี้จะก่อให้เกิดความวุ่นวายในอนาคตจึงเห็นควรให้ตัดทิ้ง นอกจากนี้ยังระบุว่ามาตรา 298(6) เปิดช่องให้คณะกรรมการปรองดองสามารถเสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษได้ มองว่า หากมีการเสนอเรื่องดังกล่าวจริงจะก่อให้เกิดปัญหาการเมืองเหมือนอดีตอีกมากและสุดท้ายก็จะเข้าสู่ยุคเดิม รัฐธรรมนูญนี้ยังไม่ตอบโจทย์ประชาชนและการแก้ไขปัญหาในอดีต
ด้านนายนราวิชญ์ ชะยะ หัวหน้าพรรคไทยรักธรรม เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับที่มาของนายกฯคนนอก เพราะไม่ได้มาจากประชาชน โดยต้องการให้นายกฯมีที่มาจากประชาชนทั้งหมดส่วนประชาชนและสมาคมส่วนใหญ่ที่มาฟังอภิปรายวันนี้ก็ระบุคล้ายกันว่าไม่เห็นด้วยกับที่มาของนายกฯคนนอก เพราะไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชนที่แท้จริง และเชื่อว่าหากแม้จะเกิดวิกฤติและบีบให้นายกฯที่มาจากการเลือกตั้งออกจากตำแหน่งก็เชื่อว่านายกฯจะไม่ออกจากตำแหน่ง เพราะเห็นมาแต่อดีตว่านักการเมืองไทยไม่ยอมรับความผิดตัวเองและพยายามรั้งตำแหน่งตัวเองไว้ตลอด
ธีรวัฒน์