จากกรณีเมื่อช่วงเดือน พ.ย.66 เกิดเหตุการณ์สู้รบในหลายพื้นที่เขตชายแดนประเทศเมียนมา ทำให้มีประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก โดยมีคนไทยที่เดินทางไปทำงานอยู่ในเมืองเล่าก์ก่าย ติดอยู่ในพื้นที่พิพาทเป็นจำนวนมาก และได้ร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือนำกลับประเทศ
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. สั่งการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง (ศพดส.ตร.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กองทัพบก กองทัพอากาศ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ในการประสานงานกับทางการเมียนมาในการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ติดอยู่ในพื้นที่ให้กลับประเทศไทยอย่างปลอดภัย ประกอบด้วย
1. เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2566 ช่วยเหลือคนไทยได้ 41 คน โดยรับตัวผ่านจุดผ่านแดนที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย
2. เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2566 ช่วยเหลือคนไทยได้ 266 คน โดยนำตัวข้ามชายแดนจากเมืองเล่าก์ก่าย เมียนมา ไปยังเมืองคุนหมิง ประเทศจีน แล้วเดินทางกลับไทยโดยสายการบินพาณิชย์ลงที่สนามบินดอนเมือง
3. เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2566 ช่วยเหลือคนไทยได้ 24 คน โดยรับตัวผ่านจุดผ่านแดนที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย
4. เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2566 ช่วยเหลือคนไทยได้ 83 คน โดยนำตัวข้ามชายแดนจากเมืองเล่าก์ก่าย เมียนมา ไปยังเมืองคุนหมิง ประเทศจีน แล้วเดินทางกลับไทยโดยสายการบินพาณิชย์ลงที่สนามบินดอนเมือง
5. เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2566 ช่วยเหลือคนไทยได้ 111 ราย โดยรับตัวผ่านจุดผ่านแดน อ.แม่สาย จ.เชียงราย
รวม 5 ครั้ง สามารถช่วยเหลือคนไทยได้แล้ว 525 ราย โดยนำเข้าสู่กระบวนการกลไกส่งต่อระดับชาติ (NRM) ที่ค่ายพระยาเม็งราย จ.เชียงราย,กองร้อยอาสารักษาดินแดน จ.เชียงราย และศูนย์บูรณาการคัดกรอง หนองจอก กรุงเทพฯ
ในจำนวนดังกล่าว มีผู้ต้องหาตามหมายจับ (คดีทั่วไปและคดีคอลเซ็นเตอร์) จำนวน 20 ราย จากนั้นนำเข้ากระบวนการคัดกรอง 504 ราย พบเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวน 174 ราย ในส่วนของกระบวนการคัดแยกนั้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการซักถามและคัดกรองตามขั้นตอนกระบวนการคัดแยกเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งขยายผลดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด โดยเฉพาะการหลอกลวงคนไทยไปทำงานคอลเซ็นเตอร์
ล่าสุด คนไทยชุดแรกที่ได้รับการช่วยเหลือจำนวน 41 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการคัดแยกและพบเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวน 20 คน ซึ่งได้ดำเนินการขยายผลดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งเป็นขบวนการหลอกคนไทยไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศเมียนมา ( เมืองเล่าก์ก่าย ) และขออนุมัติหมายจับต่อศาลจำนวน 10 ราย สามารถจับกุมได้แล้วจำนวน 4 ราย ประกอบด้วย
1. น.ส.สุภัสสร เป็นภรรยาหัวหน้าคนจีน ทำหน้าที่คุมคนไทยในคอลเซ็นเตอร์
2. น.ส.นภาพร เป็นคนควบคุมการเงิน
3. นายประภาส เป็นล่ามภาษาจีน และสอนคนไทยทำคอลเซ็นเตอร์
4. นายพงษ์เทพ เป็นล่ามภาษาจีน และทำงานเป็นคนโทรหลอกลวง
ยังมีผู้ต้องหาหลบหนีอีก 6 ราย ซึ่งทั้งหมดจะถูกดำเนินคดีในความผิดฐาน สมคบกันค้ามนุษย์ด้วยการบังคับใช้แรงงาน
ในส่วนของคนไทยชุดล่าสุด ที่ได้รับการช่วยเหลือจำนวน 111 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ดำเนินการคัดแยกและพบเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวน 85 คน โดยได้ดำเนินการขยายผลดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งเป็นขบวนการหลอกคนไทยไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศเมียนมา (เมืองแผน) และขออนุมัติหมายจับต่อศาลจำนวน 19 ราย สามารถจับกุมได้แล้วจำนวน 15 ราย อายัดตัวดำเนินคดี 2 ราย ประกอบด้วย นายณรงค์ฤทธิ์ เป็นหัวหน้าคุมคนไทยทั้งหมด และเป็นหัวหน้าทีม H , นายอนุรักษ์ เป็นพนักงานโทรหลอก (สายเชือด),น.ส.ฉัตรชนก เป็นพนักงานโทรหลอก (สายเชือด) , นายพงศกร เป็นพนักงานโทรหลอก (สายเชือด),นายปยุต เป็นพนักงานโทรหลอก (สายเชือด),นายธงชัย เป็นพนักงานโทรหลอก (สายเชือด) , นายธณากร เป็นพนักงานโทรหลอก (สายเชือด) นายณัฐนนท์ เป็นคนควบคุมการทำงานและลงโทษ,นายธนพล เป็นคนควบคุมการทำงานและลงโทษ และเป็นหัวหน้าทีม D , นายอธิรัตน์ เป็นคนควบคุมการทำงานและลงโทษ,นายสิทธิศักดิ์ เป็นคนควบคุมการทำงานและลงโทษ และเป็นหัวหน้าทีม B , นายกฤษดา เป็นคนควบคุมการทำงานและลงโทษ และเป็นหัวหน้าทีม A ,นายพงศ์พันธุ์ เป็นคนควบคุมการทำงานและลงโทษ และเป็นหัวหน้าทีม E,นายไตรสิทธิ์ เป็นหัวหน้าทีม C,น.ส.ตรีวกาล เป็นหัวหน้าทีม G,นายรัชชานนท์ เป็นหัวหน้าทีม F และ นายจาอัง เป็นคนควบคุมการเงิน โดยยังมีผู้ต้องหาหลบหนีอีก 2 ราย ซึ่งทั้งหมดจะถูกดำเนินคดีในความผิดฐาน สมคบกันค้ามนุษย์ด้วยการบังคับใช้แรงงาน
ขบวนการค้ามนุษย์กลุ่มนี้มีการแบ่งหน้าที่กันทำในองค์กร เช่น หัวหน้าฝ่ายบริหาร ฝ่ายฝึกอบรมในการทำคอลเซ็นเตอร์ ฝ่ายชักชวนคนมาทำงาน ฝ่ายการเงิน ฝ่ายจัดหาล่าม ฝ่ายควบคุมการทำงานและทำโทษ รวมทั้งฝ่ายปฏิบัติการโทรหลอกลวง ซึ่งผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงจากขบวนการนี้ ถูกชักชวนว่าจะให้ไปทำงานเป็นแอดมินเว็บพนันออนไลน์ในเมืองเล่าก์ก่าย เมียนมา แต่เมื่อไปถึงกลับถูกบังคับให้ทำงานคอลเซ็นเตอร์ และชักชวนลงทุน หากไม่ยอมทำงานจะถูกจับเรียกค่าไถ่จำนวนระหว่าง 2-7 แสนบาท หากไม่มีเงินค่าไถ่ก็จะถูกบังคับทำงานและทำร้ายร่างกายและกักขัง ก่อนที่ผู้เสียหายจะหาทางของความช่วยเหลือเพื่อกลับประเทศไทย
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า หลังจากที่มีการช่วยเหลือคนไทยกลับมาแล้ว ก็จะนำตัวเข้ารับการดูแลและคัดแยกเหยื่อที่ทางรัฐจัดหาให้ในการดำเนินการตามกลไก NRM ซึ่งที่ผ่านมาได้คัดกรองผู้เสียหายออกมาได้แล้วจำนวนหนึ่ง รวมทั้งมีการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้อีก 20 ราย
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังดำเนินการขยายผลดำเนินคดีกับขบวนการหลอกคนไทยไปบังคับทำงานคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งในกลุ่มแรกสามารถขยายผลออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการแล้ว 10 ราย จับกุมแล้ว 4 ราย , กลุ่มอื่นสามารถ ขยายผลออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการแล้ว 19 ราย จับกุมและอายัดตัวดำเนินคดีแล้ว 17 ราย ในส่วนของคนไทยที่ได้รับการช่วยเหลือกลับมาทั้งหมด ก็จะมีการขยายผลเช่นนี้ทั้งหมด เพื่อดำเนินคดีกับคนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด รวมทั้งช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากการหลอกลวงดังกล่าว ขอให้ประชาชนที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ พิจารณาข้อมูลให้ถี่ถ้วน เน้นความปลอดภัยและถูกต้องตามกฎหมาย หากพบเบาะแสของขบวนการหลอกลวงคนไทยไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ สามารถแจ้งเบาะแสได้ผ่านช่องทางสายด่วน 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
#เหยื่อเล่าก์ก่าย
#เมียนมา
CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ ดาวแปดแฉก