*ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30น.
+++พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวถึงเหตุการณ์ระเบิดป่วนเมืองหลายจุดในพื้นที่ จ.ยะลา ว่า เบื้องต้น พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะ ผบ.ทบ. และ รองผอ.รมน.ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว สั่งการ พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค4 เข้าดูแลควบคุมสถานการณ์ ซึ่งในพื้นที่ใช้กฎหมายพิเศษอยู่แล้ว จึงไม่ได้ประกาศมาตรการอื่น ๆ เช่น เคอร์ฟิวเพิ่มเติม เพราะจากการตรวจสอบพบว่าระเบิดส่วนใหญ่เป็นเพียงระเบิดขนาดเล็กหรือไปป์บอมบ์ ทั้งนี้จากรายงานทราบว่าไม่มีผู้เสียชีวิต แต่มีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 14 คน ซึ่งทั้งหมดได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว
+++ในวันเดียว ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องคดีที่ พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายมาหามะสกรี มาหะ มะอูเซ็ง หรือนายอาหามะ มะอูเซ็ง อายุ 32 ปี ชาวจังหวัดยะลา เป็นจำเลยในความผิดฐานสะสมกำลังพล หรืออาวุธตระเตรียมการ หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ, ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อกระทำการอันเป็นอั้งยี่, ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป กระทำผิดฐานซ่องโจร, ผู้ใดร่วมประชุมกันของอั้งยี่หรือซ่องโจร คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่อง จากโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์มาเบิกความยืนยัน
++++เปิดบ้านแต่เช้าวันนี้ จัดงานวันคล้ายเกิดครบรอบ 83 ปีของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เวลา 07.00 น. ที่บ้านปิ่นประภาคม ย่านนนทบุรี โดยมีคนสนิท แกนนำเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย เข้ารดน้ำอวยพร
+++ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ว่า วันคล้ายวันเกิดอายุ 84 ปี เกิดมาไม่เคยอยากได้อะไร ส่วนตัวไม่รู้จะต้องการอะไร เพราะมีทุกอย่าง เคยมี แต่เดี๋ยวนี้ไม่มี เคยมีลูกน้องเยอะ เดี๋ยวนี้ก็ไม่มี นอกจากคนที่รักหวังดีจริงๆ เมื่อถามว่า การออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้เพื่อจะกลับมาเล่นการเมืองหรือไม่ พล.อ.ชวลิตกล่าวว่า เคลื่อนไหวมาตลอด ไม่ใช่แค่ช่วงนี้ พูดหลายครั้งแล้วว่าการเมืองคือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ไม่ต้องเล่นการเมือง เพราะทำการเมืองตลอดชีวิต ไม่ได้หวังที่จะมาเป็นนักการเมือง เป็น นายกฯ หรือเป็นอะไร เรื่องพวกนั้นชิดซ้ายไปได้เลยเพราะเคยเป็นหมดแล้วทุกอย่าง เมื่อถามว่า กรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาปรามไม่ให้เคลื่อนไหว พล.อ.ชวลิตกล่าวว่า "ให้ท่านรีบออกซะ ท่านจะได้ไม่ต้องกลัว นี้เป็นเรื่องที่ท่านไม่เข้าใจ จึงต้องทำให้ท่านเข้าใจ พูดให้ท่านเข้าใจ ผมก็อายุ 84 ปีแล้ว 7 รอบแล้ว ดังนั้นจึงฝากบอกว่าไม่ต้องกลัว กล้องที่ตั้งอยู่บนตึกตรงข้ามบ้านผม ไม่ต้องตั้งบอกเขา ส่วนคนที่บอกให้ผมกลับไปเลี้ยงหลาน ก็ต้องขอขอบพระคุณ แต่ว่าท่านต้องทำให้ได้ถ้าพวกเราไม่อยู่ ขอขอบคุณที่ให้เกียรติพูดถึง"
+++หลังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์เสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม).ทำหนังสือให้ความรู้ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติในวันที่ 6 สิงหาคม โดยใช้เวลาทั้งหมด 90 วัน นับจากวันแจกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชน คาดว่าจะทำประชามติได้ภายในสิ้นปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการจาก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องการให้ทำประชามติ หากได้รับหนังสือมาอย่างเป็นทางการแล้วจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อถามว่า ส่วนตัวนายกรัฐมนตรีมีความเห็นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่มีความเห็นใดๆ ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการหารือของ ครม. ส่วนตัวคงบอกไม่ได้ ขอฟังความเห็นของ ครม.ก่อนที่จะเสนอความเห็นของตัวเอง และ คงต้องปรึกษาใน ครม.และ คสช. เพราะใน คสช.เป็นทหารทั้งหมด ไม่ใช่นักกฎหมายสักคน ดังนั้นการทำประชามติจะต้องมีการกำหนดว่าทำประชามติเรื่องอะไร แค่ไหน อย่างไร
+++ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวทาง ครม.และ คสช. จะมีการหารือกันในวันที่ 19 พฤษภาคม เป็นการประชุมร่วมกัน และ สปช. และสภานิติบัญญัติ (สนช.) มีข้อเสนอในเรื่องดังกล่าวเข้ามาด้วยจะดีเป็นอย่างยิ่ง ส่วนที่ กมธ.ยกร่างฯระบุให้ ครม.และ คสช. เป็นผู้คิดรูปแบบการทำประชามตินั้น ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูด เพราะถ้าจะมีการทำประชามติ ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่ใช่เขียนเพียงว่าต้องทำประชามติอย่างเดียว
+++นายเจษฎ์ โทณะวณิก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ตนมองว่าหาก คสช.และ ครม.เห็นชอบให้ทำประชามติและแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 ก็คงจะมีการกำหนดชัดว่า การทำประชามติจะเป็นอย่างไร เพราะที่หลายฝ่ายสงสัยจะใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 หรือไม่ เนื่องจากคะแนน เสียงที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านอาจจะยาก ตรงนี้จะออกกฎหมายมาใหม่ก็ได้ จะเขียนในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 ที่แก้ไขแล้วก็ได้
+++พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สมาชิก สปช. และรองประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า เงื่อนไขการทำประชามติคงต้องรอดูว่า คสช.และ ครม. ในฐานะผู้มีอำนาจจะเสนออย่างไร เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 46 จะแก้ไขเยอะ เนื่องจากจะต้องไปปรับโรดแมปให้สอดคล้องกับการทำประชามติที่ต้องยืดเวลาออกไปอย่างน้อย 6 เดือน ส่วนการเลือกตั้งคาดว่าจะไม่มีขึ้นในปี 2559 แน่นอน
++++ส่วนในวันที่ 15 พฤษภาคม คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สปช. เป็นประธาน ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นของตัวแทนพรรคการเมือง ภาคประชาชน และกลุ่มการเมือง อาทิ กปปส.และ นปช. ทั้งนี้มีผู้ที่ตอบรับเข้าร่วมเวทีแล้วประมาณ 100 คน อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) นายนิกร จำนง พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นายปิยะชนก ลิมปะพันธุ์ ตัวแทนจากพรรคชาติพัฒนา (ชพน.)
++ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะพิจารณาการเสนอความเห็นการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ใน 15 ประเด็นหลัก 3 ประเด็นย่อย ซึ่งส่วนใหญ่จะพิจารณา เรื่องหลักการเพื่อสรุปส่งให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
+++คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.), นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) และนายปกรณ์ พันธุ อดีตอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ รวมจำนวน 36 ราย ว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต กรณีการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.2548-2553 โดยไม่มีอำนาจ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ และเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องของตนเอง หลังจากนี้ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องมารับทราบข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันได้รับหนังสือแจ้ง โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังทยอยส่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาไปยังเจ้าตัว"
+++นอกจากนั้น ยังแจ้งข้อกล่าวหา กรณีทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง โดยมิชอบ แถลงว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหานายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และทางราชการอย่างร้ายแรง ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ในชั้นนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะไปถึงความผิดตามที่ถูกกล่าวหา การตรวจสอบกรณีดังกล่าวเป็นส่วนของโรงพักเท่านั้น ส่วนเรื่องการสร้างที่พักของตำรวจยังมีข้อมูลเพิ่มเติมที่ต้องไต่สวนเพิ่มเติมอยู่ จึงยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาในกรณีนั้น
+++ส่วนความคืบหน้าการไต่สวนคำร้องขอให้ถอดถอนนายจุติ ไกรฤกษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.เทคโนโลยีสาร สนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กรณีลงนามให้ดำเนินการร่วมธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น และสัญญาระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มบริษัทเอสแอล คอนซอเตียม ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานแล้วพบว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์เร่งรีบนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาในคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 ทั้งที่ยังไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียดรอบคอบ จึงมีมูลเพียงพอหรือส่อว่าจะกระทำการทุจริต ส่อว่าประพฤติผิดต่อหน้าที่ หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จึงมีมติแจ้งข้อกล่าวหาต่อนายจุติตามมาตรา 47 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยให้มารับทราบข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน
+++ส่วนกรณีกล่าวหานายสมศักดิ์ ตาไชย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรม การส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กับพวก ว่า อนุมัติให้นำเงินของกองทุนสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 2,100 ล้านบาท และ 400 ล้านบาท โดยไม่ชอบหลังมี มติอนุมัติให้ซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 2,100 ล้านบาทจากบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด โดยไม่ชอบ "คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติเห็นควรให้แต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตามกรณีกล่าวหาต่อไป โดยมอบให้นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานอนุฯ ไต่สวน ตรวจสอบเส้นทางการเงินเป็นหลัก เพราะไม่ทราบว่าเงินในส่วนต่างๆ แม้แต่สกุลเงินโครเอเชียจำนวน 950 ล้านนั้นหายไปไหน และต้องรีบดำเนินการ เนื่องจากเรื่องนี้ทำให้ข้าราชการครูเดือดร้อนหนักมาก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับ สกสค.นั้น พบว่ายังมีอีกหลายเรื่องหลายประเด็นที่จะต้องถูกตรวจสอบต่อไป.
++++ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข เชิญสมาคมโรงพยาบาลเอกชน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์ ประชุมแก้ปัญหาโรงพยาบาลเอกชนราคาแพง ร่วมกับหน่วยงานสังกัด สธ. เวลา 09.00 น.
+++ไม่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเรียกร้องวันแรงงาน ประจำปี 2558 ที่ขอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาท ซึ่งผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยได้รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยว่าอยู่ในภาวะทรงตัว หากจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ทำให้ที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างยังไม่มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ส่วนกรรมการฝ่ายลูกจ้างไม่ได้คัดค้าน และเห็นว่าหากปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูงขึ้นอาจจะทำให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้ามาและแย่งงานคนไทย แต่ขอให้รัฐคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงเกินไป เพื่อให้ลูกจ้างอยู่ได้ นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า มองว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าสภาพเศรษฐกิจน่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น รัฐบาลควรพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้แรงงานในปีหน้า เพราะหากไม่ปรับขึ้นแรงงานก็คงอยู่ไม่ได้
เครดิต ห้องข่าว61ภัยทั่วไทย