ระวัง! พบโอไมครอน JN.1 รุ่นลูกของโอไมครอน BA.2.86 ในไทยแล้ว 1 ราย

19 ธันวาคม 2566, 11:20น.


             Center for Medical Genomics หรือ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี รายงานว่า ไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอไมครอน BA.2.86 หรือมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “พิโรลา” ขึ้นชื่อในความสามารถในการจับกับผิวเซลล์ปอดของผู้ติดเชื้อได้ดีที่สุด แต่ยังหลบหนีภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ได้ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับโอไมครอนที่ระบาดมาก่อนหน้า เช่น EG.5.1 และ HK.3 อย่างมีนัยสำคัญ 


            ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก กังวลว่า BA.2.86 อาจมีการกลายพันธุ์เพื่อหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้นโดยพบมีการซุ่มตัวแพร่เชื้อในระดับต่ำๆมาหลายเดือนแล้ว


             ในที่สุด ก็เกิดโอไมครอนสายพันธุ์ JN.1 (B.1.1.529.2.86.1.1) เป็นรุ่นลูกของโอไมครอน BA.2.86 ซึ่งบนส่วนหนามมีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นหนึ่งตำแหน่งคือ “L455S” ส่งผลให้มีความสามารถทั้งจับกับผิวเซลล์และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดในโลก ทำให้ในปัจจุบันกลายเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดโดดเด่นในฝรั่งเศสอย่างรวดเร็ว


           ความสามารถในการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของโอไมครอน JN.1 ทำให้ทั้งองค์การอนามัยโลก,กรมควบคุมโรคสหรัฐฯ และ อังกฤษ ออกมาเตือนประชาชนกลุ่มเปราะบางให้เข้ามารับการฉีดวัคซีน 


           รัฐบาลอินเดีย แนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อโอไมครอน JN.1 โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง โดยให้ปฏิบัติมาตรการป้องกันอื่นๆร่วมด้วย เช่น กินร้อน ช้อนกลาง เว้นระยะห่างทางสังคม


          ประเทศไทย พบโอไมครอน JN.1 จำนวน 1 รายเมื่อ 28 ตุลาคม 2566 โดยมีการแชร์รหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมที่แยกได้จากผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส(GISAID) คาดว่า ต้นปีหน้าอาจแพร่เป็นสายพันธุ์หลักเหมือนประเทศอื่น


           รายชื่อประเทศที่ตรวจพบโอไมครอน JN.1 จากจำนวนมาก คือ เดนมาร์ก ถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งจีโนมแชร์ไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส (GISAID) จำนวน 1,035 ราย คิดเป็น 14.543% แพร่ระบาดในประเทศ ขณะที่ ประเทศไทย  เจอ 1 ราย คิดเป็น  0.085%


 


#โอไมครอน


#โควิด19 


CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ Center for Medical Genomics


 
ข่าวทั้งหมด

X