นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้วิเคราะห์ผลกระทบของการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป และต้นทุนในระบบเศรษฐกิจ พบว่า หากมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็น 4.68 บาท/หน่วย (เท่ากันทั้งครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม) จากระดับปัจจุบัน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 3.99 บาท/หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 17.29% จะส่งผลกระทบในหลายด้าน ทั้งอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ต้นทุนผู้ประกอบการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดอยู่แล้ว เนื่องจากค่ากระแสไฟฟ้าเป็นปัจจัยการผลิตต้นน้ำที่สำคัญ หากมีการปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้าจะส่งผ่านผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั้งกลางน้ำและปลายน้ำ ผ่านการส่งผลกระทบทางตรง และทางอ้อมได้เป็นวงกว้าง
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในอัตราที่ก้าวกระโดด และใช้อัตราค่าไฟดังกล่าวต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี จะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อประชาชน และระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม หากเป็นการทยอยปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอย่างเหมาะสม และรัฐบาลมีมาตรการลดค่าครองชีพอื่น ๆ จะช่วยลดภาระของประชาชน ขณะที่ควรหลีกเลี่ยงการปรับค่าไฟฟ้าสำหรับภาคธุรกิจในช่วงที่ต้นทุนอื่น ๆ กำลังทยอยปรับเพิ่มขึ้น เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ และอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น 5 สินค้าและบริการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ประกอบด้วย (1) น้ำแข็ง (2) ค่าห้องพักโรงแรม (3) น้ำประปา (4) เสื้อผ้า และ (5) ผ้าอ้อมเด็ก
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงทำให้ค่าเช่าบ้าน และอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะราคาอาหารสำเร็จรูป เป็นผลจากค่าเช่าพื้นที่ หรือค่าเช่าตลาดที่เพิ่มขึ้น
#ขึ้นค่าไฟฟ้า
#เงินเฟ้อ