จากมติของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ สนับสนุนให้ทำประชามติและจะส่งหนังสือมาให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)พิจารณา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ชี้ว่าเรื่องการทำประชามติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดจะชัดเจนในวันที่ 19 พ.ค. ครม.จะเป็นผู้เคาะในที่ประชุมเพื่อดูว่ามีผู้คัดค้านหรือไม่ และหากที่ประชุมเห็นควรให้ทำประชามติก็สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้ทันทีและคาดว่าจะแก้ไขเสร็จไม่เกิน 15 วันก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณาต่อไป ส่วนการทำประชามติมีสองขั้นตอนคือการไปแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อนจึงไปทำประชามติ สิ่งที่เป็นสาเหตุใหญ่ไม่ใช่การทำประชามติเพราะหากจะทำ ถือว่าเป็นเรื่องง่ายที่ประชาชนทำได้อยู่แล้ว แต่การทำประชามติเป็นผลกระทบที่ต้องเลื่อนการเลือกตั้งตามโรดแมปออกไปและต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อปลดล็อคเวลาที่วางไว้เพื่อเปิดช่องทำประชามติ พร้อมชี้ว่าประชามติจะทำได้หลังจากสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.)ผ่านการโหวตเห็นชอบร่างและคาดว่าจะทำประชามติได้ในช่วงเดือนธันวาคม 2558-มกราคม 2559 ซึ่งจะต้องแจกเอกสารร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนที่มีสิทธิประมาณ 40 กว่าล้านเล่มด้วย และจะต้องคิดด้วยว่าผลของการทำประชามติทั้งผ่านและไม่ผ่านจะเป็นอย่างไร และต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนว่าจะทำประชามติภายในวันไหนและจะทำอย่างไร ซี่งควรเช็ครายละเอียดกับคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต. คาดว่ากกต.ต้องเป็นผู้ดูแลการทำประชามติทั้งหมด นายวิษณุ ระบุว่า ได้รับหนังสือของคณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่เห็นควรให้ทำประชามติแล้ว และจะนำเข้าประชุมครม.คสช.ในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ และจะดียิ่งขึ้นหากสปช.และสนช.ส่งหนังสือชี้แจงถึงเรื่องการทำประชามติเข้ามาด้วย
บรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้าวันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ตึกสันติไมตรี โดยนายกฯได้กล่าวสวัสดีสั้นๆกับสื่อมวลชนก่อนที่จะเดินเข้าประชุม ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดจากเจ้าหน้าที่
ธีรวัฒน์