+++การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติของชาวโรฮิงญา เป็นปัญหาที่ซับซ้อนและมีความรุนแรง ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อประเทศไทย แต่เป็นหนึ่งในปัญหาเร่งด่วนของภูมิภาค รัฐบาลไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ในวันที่ 29 พ.ค.ที่กรุงเทพฯ รัฐบาลไทย เชิญเจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 15 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม บังกลาเทศ รวมทั้งเชิญประเทศผู้สังเกตการณ์ อาทิ สหรัฐฯ ตลอดจนผู้แทนองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เข้าร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูล บังคับใช้กฎหมายร่วมกันเพื่อทลายเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ
+++ขั้นตอนทางคดี ตำรวจ จับกุมผู้ต้องหาได้เพิ่มอีก 4 คน เป็นเครือข่ายที่ จ.สตูล สงขลา และระนอง ภายหลังออกหมายจับแล้ว 61 คน จับกุมแล้ว 24 คน เหลือที่ยังหลบหนีอีก 37 คน ผู้ต้องหาคนล่าสุด คือ นายมาเลย์ โต๊ะดิน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปูยู อ.เมือง จ.สตูล เดินทางเข้ามอบตัวกับนายรัชฐพนธ์ ณ อุบล นายอำเภอเมืองสตูล ก่อนจะถูกส่งตัวมาสอบสวนที่ สภ.ปาดังเบซาร์ ทันที
+++ส่วนนายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง และกลุ่มลูกน้องคนสนิท ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของขบวนการที่มีเบาะแสว่าหนีไปกบดานอยู่ที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เชื่อว่าน่าจะมีนายทุนหรือผู้บงการในระดับสูงกว่าอดีตนายก อบจ.สตูล เกี่ยวข้องด้วย
+++ นายปิยวัฒน์ พงษ์ไทย หรือโกหย่ง หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับได้เดินทางเข้ามอบตัว เป็นการขยายผลมาจากกลุ่มชาวโรฮิงญา 91 คน ในพื้นที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ประสบอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำขณะถูกลักลอบนำไปส่งที่ อ.สะเดา จ.สงขลา เมื่อเดือน มี.ค.จากการสอบสวนพบว่าก่อนจะถูกนำมาขึ้นรถกลุ่มนี้ถูกขนถ่ายมาด้วยเรือของนายปิยวัฒน์กว่า 300 คน และระหว่างที่อยู่ในทะเลมีรายงานว่าผู้หญิงจำนวนหนึ่งได้ถูกไต๋เรือข่มขืนด้วย ซึ่งข้อมูลนี้ตำรวจอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานติดตามผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีแล้ว
+++มีตำรวจและฝ่ายปกครองถูกคำสั่งเด้งออกนอกหน่วยแล้วเกือบ 70 นาย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)มีคำสั่งย้ายในทางลับ 5 นายพลตำรวจที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องไปช่วยราชการ เป็นนายพลในสังกัด บช.ภ. 8 จำนวน 2 นาย และ บช.ภ.9 อีก 3 นาย ในจำนวนนี้มี 1 นาย ที่ถูกคำสั่งให้ย้ายขาดจากตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ยังปิดล้อมตรวจค้นจุดหรือบ้านบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และอายัดทรัพย์สินหลายรายการส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการในขั้นตอนต่อไปพร้อมลงนามกับมาเลเซีย ขอให้ช่วยติดตามตัวผู้ต้องหาตามหมายจับที่คาดว่าหลบหนีไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่มาเลเซีย ซึ่งทั้งสองประเทศก็มีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนอยู่แล้ว
+++ความเคลื่อนไหวเรื่องรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ และ สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) หนุนความเห็นของกมธ. ต้องการให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หลังจากที่สปช. มีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับในวันที่ 6 ส.ค. โดยจะ ใช้เวลาทั้งหมด 90 วันนับจากวันที่แจกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชน ซึ่งคาดว่าจะทำประชามติได้ภายในสิ้นปีนี้และจะมีหนังสือส่งถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่เมื่อวานนี้ เนื่องจากเน้นการมีส่วนร่วมของพลเมืองเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงควรทำประชามติ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ. ระบุว่า เงื่อนไขว่าจะทำประชามติแบบไหน ครม. และ คสช. ต้องตัดสินใจ การทำประชามติต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 กำหนดว่า จะต้องมีผู้ออกมา ใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยปัจจุบันมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 47 ล้านคน ดังนั้นต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกิน 23.5 ล้านคน และต้องมีเสียงเห็นชอบ 11.75 ล้านคนขึ้นไป
+++การรวบรวมความเห็นหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า ความเห็นจากกระทรวงต่างๆ ส่งมาเกือบครบแล้ว ครม.จะส่งความเห็นเรื่องดังกล่าวไปยัง กมธ.ยกร่างฯ แต่จะไม่ร่างไปให้ เพราะถ้าหากร่างไปคนอาจจะคิดว่ามีพิมพ์เขียว จะให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว เช่น ต้องการให้ตัดสมัชชา หรือคณะกรรมการขับเคลื่อนๆ ออกไป เพราะจะก่อให้เกิดปัญหา และต้องการให้เขียนรัฐธรรมนูญให้มีความชัดเจน อย่างไรก็ตามได้จัดเป็นหมวดหมู่ก่อนส่งไปยัง กมธ.ยกร่างฯ ประกอบด้วย ควรเขียนรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน เพราะอาจก่อให้เกิดการตีความ และทะเลาะกัน เนื่องจากอ่านแล้วไม่เข้าใจ ควรตัดเนื้อหาบางส่วนออกไป โดยนำไปใส่ในกฎหมายลูกแทน เพราะการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญจะแก้ไขลำบาก มีบางหลักการในร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ควรจะมีอยู่ เช่น สภาหรือสมัชชาต่างๆ เพราะเป็นอุปสรรคในการทำงานของรัฐบาล เปลืองงบประมาณ ต้องเปลี่ยนใหม่ในบางเรื่อง บางประเด็น
+++มีปฎิกิริยาจากหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายไพบูลย์ นิติตะวัน นายสิระ เจนจาคะ และนายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา เสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 308 หลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ให้จัดทำประชามติ เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศ 2 ปี ก่อนจัดการเลือกตั้ง ทั้งนายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วย ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาปฏิรูป 2 ปี หรือนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวว่า การเสนอเรื่องนี้ต้องระมัดระวัง อาจถูกมองว่ามีเจตนาสืบทอดอำนาจให้ตัวเองอยู่ในตำแหน่งนานขึ้น
+++การประชุมสนช.วันนี้ จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ. 4 ฉบับ มีร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายเกี่ยวกับโทษการผลิตและจำหน่ายสื่อลามกอนาจารเด็กระวางโทษจำคุก 3-30 ปี ปรับตั้งแต่ 6 หมื่น-2 แสนบาท
+++กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด 250 อดีตส.ส.กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกสุฒิสภา( ส.ว.) นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. กล่าวว่า เตรียมส่งเรื่องดังกล่าวไปยังสนช. ในวันพรุ่งนี้เพื่อให้พิจารณาถอดถอนต่อไป ส่วนความคืบหน้าการไต่สวนข้อเท็จจริงปัญหาความไม่โปร่งใสกรณีสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เรื่องนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนหรือไม่ ในวันนี้ หลังจากสอบพยานที่เกี่ยวข้องไปบ้างแล้ว คาดว่า นายปรีชา เลิศกมลมาศ และนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. จะเป็นผู้รับผิดชอบสำนวน
+++คดีสำคัญวันนี้ที่ต้องติดตาม ศาลอาญา นัดพิพากษาคดีนายประเสริฐ สะมะลาภา อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) นายพิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม. กับพวกรวม 8 คน ปฏิบัติหน้าที่มิชอบกรณีปี 2538 -2540 ทุจริตจัดซื้อที่ดินจอดรถขยะ รถน้ำของ กทม. โดยการจัดซื้อดังกล่าวเป็นการจัดซื้อในราคาสูงเกินจริง อีกทั้งยังเป็นที่ดินตาบอดซึ่งรถของ กทม. ไม่สามารถเข้าออกได้ นอกจากนี้จำเลยกับพวกยังได้ร่วมกันเรียกรับสินบนจาก นายชูศักดิ์ ศรีประเสริฐ นายหน้าที่ดิน และ นายสุพจน์ เจ้าของที่ดิน เป็นเงินอีก 18 ล้านบาท ด้วย
+++ศาลนัดฟังอุทธรณ์ คดีนายมาหะมะสกรี มะอูเซ็ง เป็นกบฏมูจาฮีดินแบ่งแยกดินแดน ศาลชั้นต้น สั่งยกฟ้อง
+++นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าฯนครราชสีมา ประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางแผนรื้อย้ายอาคารร้านอาหารบุกรุกที่ดินราชพัสดุ ริมถนนมิตรภาพ ติดกับเขื่อนลำตะคอง ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง หรือมอปลาย่าง ตามแผนการฟ้าสางที่ลำตะคองระยะที่สอง ที่จะลงมือดำเนินการในวันพรุ่งนี้ นายธงชัยกล่าวว่า การดำเนินการจะคล้ายกับแผนระยะแรก แต่จะเพิ่มเครื่องจักรและกำลังคนมากเกือบ 200 คน โดยมีกำลังทหารอากาศเข้ามาร่วมด้วย เป้าหมายรื้อถอนร้านอาหารที่เหลืออีก 25 ราย รวมทั้งอาคารร้านอาหารขนาดใหญ่ จะดำเนินการวันที่ 15-16 พ.ค. ผู้ว่าฯนครราชสีมาตกลงที่จะไม่มีการเรียกเก็บค่าดำเนินการรื้อถอนทุกรายหลังจากยินยอมรื้อถอน