สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย(สสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯและรัฐบาล ขอให้พิจารณาด้วยความรอบคอบ ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน เรียกร้อง การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นธรรม ต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ตามหลักการสากลและต้องเท่ากันทั้งประเทศ พร้อมกับมาตรการควบคุมราคาสินค้า โดยระบุว่า ผลเสียของการปรับค่าจ้างที่ต่างกันทำให้เกิดการอพยพแรงงานจากเขตค่าจ้างต่ำเข้าสู่เมืองใหญ่ที่มีค่าจ้างสูงทำให้เกิดเมืองแออัดทั้งสภาพแวดล้อม วิกฤตการจราจร การเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะ เกิดปัญหาคนจนเมือง ในขณะที่ชนบท ไม่มีคนหนุ่มสาว ภาคเกษตรไม่มีคนทำงาน ที่ดินถูกยึดครอง สภาพเช่นที่กล่าวมา ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข คุณภาพของประชากร เรื่องทรัพยากร ที่ดิน
ผลดี หากปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมตามหลักการสากลและเท่ากันทั้งประเทศ
-จะทำให้แรงงานลดการอพยพคนงานจากเขตค่าจ้างต่ำเข้าสู่เขตค่าจ้างสูง เพียงแต่รัฐบาลมีนโยบายกระจายงานกระจายการลงทุนไปยังภูมิภาค บริหารจัดการเรื่องการขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ให้คล่องตัว ดูเรื่องสภาพแวดล้อมจากโรงงานอุตสาหกรรมให้ดี ไม่ให้มีผลกระทบต่อชุมชน ทำให้คนงานสามารถทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้และสามารถอยู่กับท้องถิ่นชนบท ออกจากโรงงานก็ยังสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมเสริมได้ ที่ดินก็ไม่ถูกยึดครอง ครอบครัวไม่แตกสลาย
-เมื่อปรับค่าจ้างให้คนงานมีกำลังซื้อ สินค้าที่ผลิตออกมาก็สามารถขายได้ เกิดการจ้างงาน เมื่อคนงานมีรายได้จากค่าจ้างแรงงาน สถานประกอบการมีรายได้จากการขายสินค้า รัฐบาลก็สามารถเก็บภาษีได้ทั้งบุคคล นิติบุคคล และการส่งออก รัฐก็มีรายได้มีเงินจัดสรรเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ
#ปรับค่าจ้าง
CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย-สสรท.