ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ชีค โมฮัมหมัด บิน อับดุลเราะห์มาน บิน ยาสซีม อัล-ธานี (Sheikh Mohammed bin Abdulrahman bin Jassim Al-Thani)นายกรัฐมนตรีกาตาร์ และรัฐมนตรีต่างประเทศของกาตาร์ กล่าวเปิดประชุมเวทีเศรษฐกิจ Doha Forum 2023 ในกรุงโดฮาในวันนี้ แสดงความกังวลเรื่องสถานการณ์วิกฤตด้านมนุษยธรรมในเขตฉนวนกาซา ระบุว่าพวกเรามาประชุมในวันนี้ด้วยความรู้สึกเศร้าใจอย่างยิ่ง เนื่องจากโลกของเรายังคงประสบวิกฤตต่างๆอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะสถานการณ์ในเขตฉนวนกาซาประสบวิกฤตด้านมนุษยธรรมรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ขณะที่ผู้คนในโลกหลายคนในสังคมเสรีเริ่มตั้งคำถามต่างๆ ซึ่งฟังดูสมเหตุสมผล เช่น ความอ่อนแอขององค์กรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในฐานะผู้ควบคุมกฎกติการะหว่างประเทศ และประสิทธิภาพของกลไกการแก้ไขปัญหา และหลักการต่างๆตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ชีค อัล-ธานี ไม่เอ่ยชื่ออิสราเอลโดยตรง แต่ประณามการทำร้ายพลเรือน รวมถึงผู้หญิงและเด็กว่า ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และปัญหาวิกฤตดังกล่าวแสดงถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างชาติตะวันออกกับชาติตะวันตก และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนต่างรุ่น(generations) ตลอดถึงปัญหาการใช้กฎหมาย 2 มาตรฐาน(double standards)ซึ่งเกิดขึ้นในประชาคมระหว่างประเทศ เพิ่มเติมว่า ในปัจจุบัน โลกแบ่งแยกระหว่างกลุ่มที่เรียกร้องให้มีการยุติสงครามกับกลุ่มที่รู้สึกลังเลใจที่จะหยุดยิงในเขตฉนวนกาซา ขณะที่บางคนมองปัญหาพิพาทเรื่องนี้ว่า เป็นสงครามทางศาสนา
ชีค อัล-ธานี มองปัญหาพิพาทนี้มีต้นเหตุมาจาก(การที่อิสราเอล)เข้ายึดครองดินแดนปาเลสไตน์และการที่สิทธิ์การปกครองตนเองของชาวปาเลสไตน์ถูก(อิสราเอล)ลิดรอนมาหลายสิบปี พร้อมตั้งคำถามว่า พวกเราจะขอให้ฝ่ายที่ทำทุกวิถีเพื่อขัดขวางกระบวนการสร้างสันติภาพในตะวันออกกลางมาเจรจาสันติภาพได้อย่างไร พร้อมระบุว่า หากหากพวกเรายอมรับความเป็นจริง และพร้อมจะทำงานร่วมกันเพื่ออนาคตร่วมกัน จะต้องเริ่มต้นด้วยการยอมรับเรื่องปัญหาบกพร่องขององค์กรที่ควบคุมกฎกติกา หรือกฎระเบียบของโลกในปัจจุบัน(เช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ) ซึ่งที่ผ่านมา ข้อบกพร่องต่างๆเหล่านี้ จะส่งผลให้การสู้รบยืดเยื้อ ขัดความสำเร็จในการคลี่คลายปัญหานี้โดยเร็ว พร้อมกล่าวถึงท่าทีล่าสุด ระหว่างคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายคือ อิสราเอลและกลุ่มฮามาสว่า ต่างฝ่ายต่างปฏิเสธ ไม่ยอมกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา แตกต่างบรรยากาศช่วงก่อนการทำข้อตกลงพักรบชั่วคราวในเดือนก่อน ต่างฝ่ายต่างยินดีเข้าสู่โต๊ะเจรจา
ก่อนหน้านี้ กาตาร์ ทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในเดือนที่แล้ว กระทั่งนำไปสู่การพักรบชั่วคราว 7 วัน ทำให้กลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกันแลกการที่อิสราเอลปล่อยนักโทษปาเลสไตน์ อีกทั้งช่วยให้องค์กรการกุศลสามารถขนสิ่งของบรรเทาทุกข์ทางรถบรรทุกเข้าไปยังเขตฉนวนกาซาได้มากขึ้น กระทั่งต่อมา ทั้งสองฝ่ายกลับมาสู้รบกันอีกครั้งหลังข้อตกลงให้ขยายระยะเวลาพักรบต่อไปล้มเหลวเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม
#กาตาร์
#ห่วงวิกฤตมนุษยธรรม
#กาซา