คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ไม่สามารถลงมติให้หยุดยิงในฉนวนกาซาในทันที เนื่องจากสหรัฐอเมริกาใช้สิทธิ์ยับยั้งหรือวีโต้ ขณะที่สมาชิก 13 ประเทศสนับสนุนการหยุดยิง และสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกางดออกเสียง
ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี โจ ไบเดน มีความเห็นว่าการหยุดยิงจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มฮามาส แม้จะมีความเห็นแย้งว่าการหยุดยิงคือการลดความสูญเสียที่เกิดจากปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอล
นาย กิลาด เออร์ดาน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติโพสต์ข้อความผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ขอบคุณประธานาธิบดีไบเดน ที่ยืนหยัดเคียงข้างอิสราเอล ด้วยการขัดขวางมติที่เรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันทีในฉนวนกาซา เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำ แต่วิจารณ์สหประชาชาติ ว่าในขณะที่กลุ่มฮามาสกำลังยิงจรวดใส่อิสราเอล สหประชาชาติกลับใส่ใจกับมติที่บิดเบือน ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มฮามาสยังคงอยู่ในฉนวนกาซา ไม่มีการประณามกลุ่มฮามาสหรือเรียกร้องให้ปล่อยตัวประกัน พร้อมย้ำว่าการหยุดยิงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อตัวประกันทั้งหมดกลับมาและต้องทำลายกลุ่มฮามาสเท่านั้น
สหรัฐฯ มีความเห็นว่าร่างญัตตินี้มีความไม่สมดุล ห่างไกลจากความเป็นจริง ไม่มีข้อความที่พวกเขาร้องขอ รวมถึงการประณามอย่างชัดเจนต่อกลุ่มฮามาสที่โจมตีพลเรือนอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม และไม่มีการย้ำข้อเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหา 2 รัฐซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะบรรลุสันติภาพที่ยั่งยืนในภูมิภาค
ส่วนสหราชอาณาจักร ที่งดออกเสียงในที่ประชุม ระบุว่า ไม่สามารถลงคะแนนเห็นชอบในญัตติที่ไม่ประณามการกระทำอันโหดร้ายของกลุ่มฮามาส
การยับยั้งของสหรัฐฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากจีนและรัสเซีย ทางการจีนกล่าวหาสหรัฐฯ ว่า "ขัดแย้งในตัวเอง" เพราะในขณะที่ปฏิเสธที่จะสนับสนุนการหยุดยิง แต่ก็กลับแสดงความกังวลต่อชีวิตพลเรือน ขณะที่รัสเซียเรียกสหรัฐฯ ว่า "ไร้หัวใจ"
บราซิล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ลงมติสนับสนุน มีความเห็นว่าการแก้ปัญหาแบบ 2 รัฐจะสร้างความเสียหาย "อย่างที่ไม่อาจแก้ไขได้" หากไม่มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนในฉนวนกาซา
รัฐปาเลสไตน์ ซึ่งมีสถานะผู้สังเกตการณ์ถาวรในสหประชาชาติ เรียกความล้มเหลวในการผ่านญัตติว่าเป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ และกล่าวหาคณะมนตรีความมั่นคงฯ ว่าไม่แสดงความรับผิดชอบของตนเมื่อมีพลเรือนชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสหรัฐฯ จะปกป้องอิสราเอลจากการวิพากษ์วิจารณ์เกือบทั้งหมดในคณะมนตรีความมั่นคงฯ ดังนั้น การใช้สิทธิ์ยับยั้งในวันนี้จึงเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ และองค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่งคาดการณ์ไว้ ทั้งเห็นว่าการยับยั้งในครั้งนี้ ทำลายความน่าเชื่อถือของอเมริกาในด้านสิทธิมนุษยชน และทำให้สหรัฐฯ ถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นในเวทีโลก กลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders) ระบุว่า เป็น “การลงมติต่อต้านมนุษยชาติ” เพราะภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลังจากที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นำเสนอร่างญัตติ ก็ได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิก 97 ประเทศ ในลักษณะที่เป็นการแสดงออกในทางสัญญลักษณ์ร่วมกับสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคง 13 ประเทศที่ลงมติเห็นชอบในระหว่างการประชุม
นายหลุยส์ ชาร์บอนโน ผู้อำนวยการองค์การเพื่อมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ เตือนว่า สหรัฐฯ เสี่ยงที่จะตกเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมสงคราม จากการขัดขวางการทำหน้าที่ของคณะมนตรีความมั่นคงฯ ในการปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ การคุ้มครองพลเรือน และการปล่อยพลเรือนทั้งหมดที่ถูกจับเป็นตัวประกัน
...
#คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
#สหรัฐอเมริกา
#อิสราเอล
#ฮามาส